วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2549

สภากาแฟ


สภากาแฟ มีจุดเริ่มต้นมาจากการมาร่วมดื่มกาแฟกันที่ร้านกาแฟในชุมชน เมื่อมาพบปะกันก็จะพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล แลกเปลี่ยนทัศนะ ซึ่งกันและกัน การพูดคุยจึงเป็นเรื่องสัพเพเหระ ทั้ง การบ้าน และ การเมือง ใครทำอะไร ใครเกิด ใครป่วย ใครตาย ใครบวช ใครแต่งงาน ลูกสาวบ้านไหนหนีตามหนุ่มบ้านไหน ก็จะรู้กันที่ร้านกาแฟ ที่ต่อมามีคนบัญญัติเป็นศัพท์ใหม่ว่า สภากาแฟ (ผมจำได้ว่า เมื่อผมเด็กๆ อาปา ต้องไปร้านกาแฟทุกเช้า ทั้งๆที่ชงกาแฟกินที่บ้านก็ได้ แล้วอาปาก็ไม่เคยตกข่าว ข้อมูล ความเคลื่อนไหวในตลาด ทั้งๆที่ตลอดวัน ตลอดเดือน ตลอดปี ไม่ได้ไปสุงสิงที่บ้านไหนเลย)

หน่วยราชการหลายแห่ง ได้นำรูปแบบของสภากาแฟมาใช้ในองค์กร เพื่อให้เกิดการสื่อสารในองค์กรแบบไม่เป็นทางการ ผมเชื่อว่าหากเราใช้รูปแบบของสภากาแฟจริง ไม่ดัดแปลง(ตามความถนัดของข้าราชการไทย) จนกลายเป็นเลียนรูปแบบสภาเช่น สภาผู้แทนราษฎร ที่จะต้องมีประธานสภา ต้องขออนุญาตพูด ต้องมีเลขานุการจดบันทึกการประชุม ฯลฯ เราก็จะได้ ความสัมพันธ์ในองค์กร ที่เป็นการได้มาแบบที่ผมเรียกว่าเป็นกระบวนการ ทางอ้อม

เพียงจัดสถานที่ไว้ให้เจ้าหน้าที่ได้พบหน้ากันก่อนจะเริ่มงานวันใหม่ ซดกาแฟ แกล้ม ปาท่องโก๋ หรือข้าวเหนียวสังขยา อยากคุยอะไรก็คุย อยากฟังก็ฟัง หรือจะอ่านหนังสือพิมพ์ก็ตามใจ จะมีโทรทัศน์ให้ตามข่าวสักหน่อยก็ได้ ไม่ต้องมีประธาน ไม่ต้องมีเลขาฯ ไม่ต้องมีใครเป็นเจ้าประจำหัวโต๊ะ ท่าทางมันจะมีความสุขไม่น้อยนะเนี่ย

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Gotoknow Blog Office 27 ตุลาคม 2549 14:38]

วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2549

ต้องเริ่มที่ความสัมพันธ์


ผมร่วมทำงานที่สำนักงานนี้มานานพอสมควร เริ่มตั้งแต่มาอยู่เนินมะปราง เมื่อปี 2530 และเข้ามาประจำที่สำนักงานเมื่อปี 2542 เห็นมาโดยตลอดว่าปัญหาสำคัญขององค์กรเราคือ ความสัมพันธ์ ของคนในองค์กร เมื่อความสัมพันธ์ไม่ดี เราจะทำอะไรก็ Weak และ Fail ไม่ว่าจะเป็นงานปกติ หรือ กระบวนการพัฒนาต่างๆ

แต่ผมก็ไม่เห็นด้วย หากเราจะใช้กระบวนการจัดการองค์กรต่างๆ เข้ามาแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ขององค์กรเรา เนื่องจากคนในองค์กรเรา เก่ง จนอาจจะ หลอก วิทยากรมืออาชีพได้

หาก ความสัมพันธ์ในองค์กร(นี้) ต้องใช้กระบวนการทางอ้อม อาศัยความใส่ใจของคนในองค์กร ทั้งจาก ผบ. ทุกระดับที่จะใส่ใจในการพัฒนาความสัมพันธ์ และเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข (เพราะเมื่อเริ่มลงมือแก้ ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะประสบผลสำเร็จ)

การใช้กระบวนทางอ้อม อาทิ ห้องสมุด ห้องสันทนาการ ห้องออกกำลังกาย(ที่มีอุปกรณ์ Fitness ต่างๆ) การจัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ฯลฯ น่าจะบังเกิดผลสร้างความสัมพันธ์ของคนในองค์กรอย่างช้าๆ แต่จะมั่นคง ต่างจากการใช้กระบวนการ ที่อาจเกิดผลอย่างรวดเร็ว แต่ก็จะจางหายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน (แต่นั่นมิได้หมายความว่าไม่มีประโยชน์)

ในวรรคก่อน จะเห็นว่าผมเน้น ผบ. แต่อันที่จริง ความสัมพันธ์ ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากทุกคนไม่ให้ความร่วมมือ


[โพสต์ครั้งแรก ที่ Gotoknow Blog Office 26 ตุลาคม 2549 22:06]

วันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2549

คติพจน์ของลูกเสือ กับ การพัฒนาองค์กร


คติพจน์ หมายถึง ถ้อยคำที่เป็นแบบอย่าง ที่สามารถนำไปยึดถือ เป็นแนวปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตได้

คติพจน์ของลูกเสือ เป็นที่รู้จักกันดี แต่อาจจะลืมเลือนไป หากนำมาทบทวนก็จะพบว่า มีความทันสมัย สามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกหน่วยงานหรือองค์กรทุกระดับ เป็นการเตรียมความพร้อมของร่างกาย จิตใจ ตลอดจนแนวคิดพื้นฐาน ของบุคลากร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์กรตามแนวทางกระบวนการมาตรฐานอื่นๆต่อไป

คติพจน์ของลูกเสือ ประกอบด้วย 4 คติพจน์ เรียงลำดับตามความง่ายยากของการปฏิบัติ เป็นไปตามระดับของลูกเสือ ซึ่งแบ่งตามระดับอายุ คือ ลูกเสือสำรอง(Cub Scout) อายุ 8-11 ปี ลูกเสือสามัญ(Scout) อายุ 11-16 ปี ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่(Senior Scout)อายุ 14-18 ปี และ ลูกเสือวิสามัญ(Rover) อายุ 16-25 ปี ความยากง่ายในการนำคติพจน์ของลูกเสือมาประยุกต์ใช้ ก็น่าจะเรียงไปตามลำดับของลูกเสือเช่นกัน ดังนี้

ทำดีที่สุด (Do Our Best) เป็นคติพจน์ของลูกเสือสำรอง หมายถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตนที่มีอยู่ให้ดีที่สุด เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการบริการที่ดีที่สุด ไม่สนใจเปรียบเทียบหรือแข่งขันผลงานกับผู้อื่น ไม่ใส่ใจว่าผลที่ได้รับจะเป็นชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ เพียงให้ผลงานเป็นตัวพิสูจน์การกระทำ ทำดีที่สุดในทุกสถานการณ์ 

จงเตรียมพร้อม (Be prepared) เป็นคติพจน์ของลูกเสือสามัญ หมายถึง การเตรียมพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ คือ การเตรียมร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และ ตื่นตัว ให้พร้อมที่สุด ที่จะปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบ ทบทวนเพื่อให้เกิดความถูกต้อง และทำให้ถูกต้องในทุกกิจกรรมทุกขั้นตอน คำนึงเสมอว่าอาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้และพร้อมรับมือกับปัญหานั้นๆในทุกสถานการณ์ พร้อมทุกขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ และพร้อมที่จะเสี่ยงอันตรายเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น

มองไกล (Look wide) เป็นคติพจน์ของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ หมายถึง การมองให้กว้างและไกล ฉลาดที่จะมองเห็นความจริงของสิ่งต่างๆ ว่าผลจากการกระทำภารกิจของตน อาจส่งผลกระทบถึงภารกิจอื่น บุคคลอื่น จะประสบผลดี ผลเสียต่อองค์กรส่วนรวม หรือไม่อย่างไร วิเคราะห์และสามารถกำหนดทิศทางเป้าหมาย วางแผน ได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน

บริการ (Service) เป็นคติพจน์ของลูกเสือวิสามัญ หมายถึง การกระทำด้วยความตั้งใจ ที่จะให้ผู้อื่นมีความสะดวกหรือลดปัญหา หรือความทุกข์ หวังเพียงให้ผู้รับบริการได้รับในสิ่งที่เหมาะสมที่สุดเสมอ โดยไม่หวังรางวัลหรือสิ่งตอบแทนใด ๆ 

หากองค์กรทุกระดับ นำคติพจน์ของลูกเสือ ทั้ง 4 ประการ มาประยุกต์ใช้ในภารกิจปกติ ย่อมเป็นการเตรียมความพร้อมของบุคลากร ตั้งแต่การทำดีอย่างเดียว โดยไม่พะวงถึงสิ่งอื่นใด การพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ การมีวิสัยทัศน์(Vision) และ มีจิตใจพร้อมบริการ(Service mind) การพัฒนาองค์กร ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด กระบวนการใด ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินไป สำหรับทุกองค์กร


[Ref.0007 491011 http://www.scoutthailand.org/ , http://www.inquiry.net/ideals/b-p/motto.htm ,http://www.moe.go.th/scout/knowlage_scout.htm]

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 11 Oct 2549 17:16]