วันอังคารที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2549

สวนหย่อมในสำนักงาน


ปัจจุบันแนวคิดเรื่องสำนักงานน่าอยู่ กำลังเป็นที่สนใจ ทุกหน่วยงานพยายามคิดหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้สำนักงานเป็นสำนักงานที่น่าอยู่น่าทำงาน

สวนหย่อม เป็นเรื่องหนึ่งที่หลายหน่วยงานเห็นว่าเป็นส่วนที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่มีความสุขใจ ก็จะทำงานด้วยความสุข ผลสัมฤทธิ์ของงานก็จะดีขึ้น ผู้มาติดต่อหรือลูกค้าก็มีความพึงพอใจ

แต่พื้นที่ในสำนักงานมักไม่อำนวย และมีอยู่จำกัด ด้วยมิได้ออกแบบมาเพื่อการจัดสวนหย่อม ดังนั้นสถานที่จัดทำสวนหย่อมจึงมักเป็น บริเวณหน้าประตู หรือหน้าบันได ขั้นพักบันได ที่ที่มีช่องว่างอยู่บ้าง (บางแห่ง เช่นโรงพยาบาลที่ไปประชุมมาเมื่อวานนี้ ปิดประตูหนึ่งบานเพื่อจัดทำสวนหย่อม)

โดยลืมคำนึงถึงความปลอดภัย เมื่อเกิดอุบัติภัย เช่น ไฟไหม้ , ภาวะจลาจล เป็นต้น

ละเลยเรื่อง Safety First ไปเพื่อความสวยงาม

วันนี้(26 ธันวาคม) เป็น วันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ไม่อยากเห็นความสวยงาม แต่ไม่ปลอดภัย ครับ

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Gotoknow Blog Office 26 ธันวาคม 2549 16:25]

วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2549

พฤติกรรม ไม่ใช่ สันดาน


พฤติกรรม เกิดจากการเรียนรู้พฤติกรรมจึงเปลี่ยนแปลงได้
พฤติกรรมองค์กร ก็เช่นเดียวกัน

แนวคิดในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มี 3 แนวทาง
(ดัดแปลงจากแนวคิดของ Kelman) คือ

1. การบังคับ การที่บุคคลยอมทำตามนั้นไม่ใช่เพราะเชื่อหรือเห็นด้วย แต่เป็นเพราะต้องการรางวัลหรือกลัวถูกลงโทษ
2. การเลียนแบบ บุคคลจะเลียนแบบผู้ที่ชื่นชอบหรือเชื่อถือ และ มีแนวโน้มจะเลียนแบบเพื่อคงสัมพันธภาพในสังคม
3. การเรียนรู้ จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลเห็นว่าสิ่งใหม่นั้นเป็นประโยชน์ มีคุณค่า

แม้ว่า วิธีการบังคับ และ การเลียนแบบ จะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อย่างยั่งยืนเท่ากับ วิธีการเรียนรู้ แต่ก็อาจต้องนำมาผสมผสานใช้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามแต่สถานการณ์

พฤติกรรม ไม่ใช่ สันดาน จึงอาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

[Ref.0009 491221 พฤติกรรมศาสตร์สาธารณสุข เฉลิมพล ตันสกุล ISBN 974-661-296-4]


[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 21 Dec 2549 09:42]

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549

ทอดกฐินสามัคคี


หลังออกพรรษา เป็นเทศกาล ทอดกฐิน ซึ่งถือเป็นการทำบุญมหากุศล ที่มักไม่ทำคนเดียว ต้องรวบรวมคนจำนวนมากช่วยกัน เพื่อเฉลี่ยส่วนบุญกันไป และ มักมีผู้หลักผู้ใหญ่รับเป็นประธานทอดกฐิน เรียกว่า กฐินสามัคคี

การทอดกฐินสามัคคี โดยมีผู้หลักผู้ใหญ่เป็นประธาน จึงมีบารมีเข้ามาเกี่ยวเนื่องด้วย ๒ ประการ คือ
๑. เพื่อ สะสมบารมี และ

๒. เพื่อ เช็คบารมี

[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๒๓ พ.ย. ๒๕๔๙,๐๙:๔๐:๑๒]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 23 พฤศจิกายน 2549 10:18]

วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549

คำที่มักใช้สับสน


มีคำอยู่ 2 คำ ที่มักมีหลายท่านสับสนเวลาใช้ คือคำว่า
พระบรมฉายาลักษณ์ และ พระบรมสาทิสลักษณ์
พระบรมฉายาลักษณ์ แปลว่า รูปถ่าย
พระบรมสาทิสลักษณ์ แปลว่า ภาพเขียนเหมือนบุคคลจริง
ทั้งสองคำเป็นคำราชาศัพท์
หวังว่าคงไม่เอามะพร้าวห้าวมาขายสวนนะครับ

[Ref.0008 491120 พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒ http://rirs3.royin.go.th/ridictionary/lookup.html]

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 20 Nov 2549 16:55]

วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2549

สภากาแฟ


สภากาแฟ มีจุดเริ่มต้นมาจากการมาร่วมดื่มกาแฟกันที่ร้านกาแฟในชุมชน เมื่อมาพบปะกันก็จะพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล แลกเปลี่ยนทัศนะ ซึ่งกันและกัน การพูดคุยจึงเป็นเรื่องสัพเพเหระ ทั้ง การบ้าน และ การเมือง ใครทำอะไร ใครเกิด ใครป่วย ใครตาย ใครบวช ใครแต่งงาน ลูกสาวบ้านไหนหนีตามหนุ่มบ้านไหน ก็จะรู้กันที่ร้านกาแฟ ที่ต่อมามีคนบัญญัติเป็นศัพท์ใหม่ว่า สภากาแฟ (ผมจำได้ว่า เมื่อผมเด็กๆ อาปา ต้องไปร้านกาแฟทุกเช้า ทั้งๆที่ชงกาแฟกินที่บ้านก็ได้ แล้วอาปาก็ไม่เคยตกข่าว ข้อมูล ความเคลื่อนไหวในตลาด ทั้งๆที่ตลอดวัน ตลอดเดือน ตลอดปี ไม่ได้ไปสุงสิงที่บ้านไหนเลย)

หน่วยราชการหลายแห่ง ได้นำรูปแบบของสภากาแฟมาใช้ในองค์กร เพื่อให้เกิดการสื่อสารในองค์กรแบบไม่เป็นทางการ ผมเชื่อว่าหากเราใช้รูปแบบของสภากาแฟจริง ไม่ดัดแปลง(ตามความถนัดของข้าราชการไทย) จนกลายเป็นเลียนรูปแบบสภาเช่น สภาผู้แทนราษฎร ที่จะต้องมีประธานสภา ต้องขออนุญาตพูด ต้องมีเลขานุการจดบันทึกการประชุม ฯลฯ เราก็จะได้ ความสัมพันธ์ในองค์กร ที่เป็นการได้มาแบบที่ผมเรียกว่าเป็นกระบวนการ ทางอ้อม

เพียงจัดสถานที่ไว้ให้เจ้าหน้าที่ได้พบหน้ากันก่อนจะเริ่มงานวันใหม่ ซดกาแฟ แกล้ม ปาท่องโก๋ หรือข้าวเหนียวสังขยา อยากคุยอะไรก็คุย อยากฟังก็ฟัง หรือจะอ่านหนังสือพิมพ์ก็ตามใจ จะมีโทรทัศน์ให้ตามข่าวสักหน่อยก็ได้ ไม่ต้องมีประธาน ไม่ต้องมีเลขาฯ ไม่ต้องมีใครเป็นเจ้าประจำหัวโต๊ะ ท่าทางมันจะมีความสุขไม่น้อยนะเนี่ย

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Gotoknow Blog Office 27 ตุลาคม 2549 14:38]

วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2549

ต้องเริ่มที่ความสัมพันธ์


ผมร่วมทำงานที่สำนักงานนี้มานานพอสมควร เริ่มตั้งแต่มาอยู่เนินมะปราง เมื่อปี 2530 และเข้ามาประจำที่สำนักงานเมื่อปี 2542 เห็นมาโดยตลอดว่าปัญหาสำคัญขององค์กรเราคือ ความสัมพันธ์ ของคนในองค์กร เมื่อความสัมพันธ์ไม่ดี เราจะทำอะไรก็ Weak และ Fail ไม่ว่าจะเป็นงานปกติ หรือ กระบวนการพัฒนาต่างๆ

แต่ผมก็ไม่เห็นด้วย หากเราจะใช้กระบวนการจัดการองค์กรต่างๆ เข้ามาแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ขององค์กรเรา เนื่องจากคนในองค์กรเรา เก่ง จนอาจจะ หลอก วิทยากรมืออาชีพได้

หาก ความสัมพันธ์ในองค์กร(นี้) ต้องใช้กระบวนการทางอ้อม อาศัยความใส่ใจของคนในองค์กร ทั้งจาก ผบ. ทุกระดับที่จะใส่ใจในการพัฒนาความสัมพันธ์ และเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข (เพราะเมื่อเริ่มลงมือแก้ ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะประสบผลสำเร็จ)

การใช้กระบวนทางอ้อม อาทิ ห้องสมุด ห้องสันทนาการ ห้องออกกำลังกาย(ที่มีอุปกรณ์ Fitness ต่างๆ) การจัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ฯลฯ น่าจะบังเกิดผลสร้างความสัมพันธ์ของคนในองค์กรอย่างช้าๆ แต่จะมั่นคง ต่างจากการใช้กระบวนการ ที่อาจเกิดผลอย่างรวดเร็ว แต่ก็จะจางหายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน (แต่นั่นมิได้หมายความว่าไม่มีประโยชน์)

ในวรรคก่อน จะเห็นว่าผมเน้น ผบ. แต่อันที่จริง ความสัมพันธ์ ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากทุกคนไม่ให้ความร่วมมือ


[โพสต์ครั้งแรก ที่ Gotoknow Blog Office 26 ตุลาคม 2549 22:06]

วันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2549

คติพจน์ของลูกเสือ กับ การพัฒนาองค์กร


คติพจน์ หมายถึง ถ้อยคำที่เป็นแบบอย่าง ที่สามารถนำไปยึดถือ เป็นแนวปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตได้

คติพจน์ของลูกเสือ เป็นที่รู้จักกันดี แต่อาจจะลืมเลือนไป หากนำมาทบทวนก็จะพบว่า มีความทันสมัย สามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกหน่วยงานหรือองค์กรทุกระดับ เป็นการเตรียมความพร้อมของร่างกาย จิตใจ ตลอดจนแนวคิดพื้นฐาน ของบุคลากร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์กรตามแนวทางกระบวนการมาตรฐานอื่นๆต่อไป

คติพจน์ของลูกเสือ ประกอบด้วย 4 คติพจน์ เรียงลำดับตามความง่ายยากของการปฏิบัติ เป็นไปตามระดับของลูกเสือ ซึ่งแบ่งตามระดับอายุ คือ ลูกเสือสำรอง(Cub Scout) อายุ 8-11 ปี ลูกเสือสามัญ(Scout) อายุ 11-16 ปี ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่(Senior Scout)อายุ 14-18 ปี และ ลูกเสือวิสามัญ(Rover) อายุ 16-25 ปี ความยากง่ายในการนำคติพจน์ของลูกเสือมาประยุกต์ใช้ ก็น่าจะเรียงไปตามลำดับของลูกเสือเช่นกัน ดังนี้

ทำดีที่สุด (Do Our Best) เป็นคติพจน์ของลูกเสือสำรอง หมายถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตนที่มีอยู่ให้ดีที่สุด เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการบริการที่ดีที่สุด ไม่สนใจเปรียบเทียบหรือแข่งขันผลงานกับผู้อื่น ไม่ใส่ใจว่าผลที่ได้รับจะเป็นชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ เพียงให้ผลงานเป็นตัวพิสูจน์การกระทำ ทำดีที่สุดในทุกสถานการณ์ 

จงเตรียมพร้อม (Be prepared) เป็นคติพจน์ของลูกเสือสามัญ หมายถึง การเตรียมพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ คือ การเตรียมร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และ ตื่นตัว ให้พร้อมที่สุด ที่จะปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบ ทบทวนเพื่อให้เกิดความถูกต้อง และทำให้ถูกต้องในทุกกิจกรรมทุกขั้นตอน คำนึงเสมอว่าอาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้และพร้อมรับมือกับปัญหานั้นๆในทุกสถานการณ์ พร้อมทุกขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ และพร้อมที่จะเสี่ยงอันตรายเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น

มองไกล (Look wide) เป็นคติพจน์ของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ หมายถึง การมองให้กว้างและไกล ฉลาดที่จะมองเห็นความจริงของสิ่งต่างๆ ว่าผลจากการกระทำภารกิจของตน อาจส่งผลกระทบถึงภารกิจอื่น บุคคลอื่น จะประสบผลดี ผลเสียต่อองค์กรส่วนรวม หรือไม่อย่างไร วิเคราะห์และสามารถกำหนดทิศทางเป้าหมาย วางแผน ได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน

บริการ (Service) เป็นคติพจน์ของลูกเสือวิสามัญ หมายถึง การกระทำด้วยความตั้งใจ ที่จะให้ผู้อื่นมีความสะดวกหรือลดปัญหา หรือความทุกข์ หวังเพียงให้ผู้รับบริการได้รับในสิ่งที่เหมาะสมที่สุดเสมอ โดยไม่หวังรางวัลหรือสิ่งตอบแทนใด ๆ 

หากองค์กรทุกระดับ นำคติพจน์ของลูกเสือ ทั้ง 4 ประการ มาประยุกต์ใช้ในภารกิจปกติ ย่อมเป็นการเตรียมความพร้อมของบุคลากร ตั้งแต่การทำดีอย่างเดียว โดยไม่พะวงถึงสิ่งอื่นใด การพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ การมีวิสัยทัศน์(Vision) และ มีจิตใจพร้อมบริการ(Service mind) การพัฒนาองค์กร ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด กระบวนการใด ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินไป สำหรับทุกองค์กร


[Ref.0007 491011 http://www.scoutthailand.org/ , http://www.inquiry.net/ideals/b-p/motto.htm ,http://www.moe.go.th/scout/knowlage_scout.htm]

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 11 Oct 2549 17:16]

วันอังคารที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2549

แอนะล็อก กับ ดิจิทัล ( Analog VS Digital )


การทำงานระบบ แอนะล็อก (Analog) หรือ เชิงอุปมาน เป็นการเก็บข้อมูลในลักษณะวัดต่อเนื่อง

การทำงานระบบ ดิจิทัล (Digital) หรือ เชิงเลข เป็นการเก็บข้อมูลในลักษณะตัวเลข

การทำงานระบบแอนะล็อกจึงช้ากว่าระบบดิจิทัล

หลายท่านนำมาเปรียบเปรยการทำงานของมนุษย์ว่า ยุคนี้ต้องทำแบบดิจิทัล อย่ามัวงุ่มง่ามเป็นแอนะล็อก

สิ่งทีไม่ควรลืมเป็นอันขาดคือ ทั้งแอนะล็อกและดิจิทัล ต่างก็ไม่มีจิตใจ

Both Analog & Digital have no mind.

[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๑๒ ก.ย. ๒๕๔๙,๑๑:๑๗:๔๖]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 26 ตุลาคม 2549 08:14]

คนเดินถนน VS คนขับรถยนต์


คนเดินข้างถนนในยามค่ำคืน มักนึกว่า คนขับรถยนต์จะมองเห็นตน และหลบหลีกไปได้

เหมือนคนทั่วไป ที่มักคิดว่า คนอื่นจะรู้เหมือนที่ตนรู้ จะเข้าใจเหมือนที่ตนเข้าใจ จะคิดเหมือนที่ตนคิด

กว่าจะรู้ว่าเขาคิดแตกต่าง

ก็โดนรถชนเสียแล้ว



[ ๑๒ ก.ย. ๒๕๔๙,๑๐:๒๒:๐๖]
[From My Idea Gotoknow 19 ตุลาคม 2549 08:48]







วันพุธที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549

Pandemic Influenza


10 ประเด็นที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่(Pandemic Influenza) 


1. ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ จะไม่ระบาดจาก Avian influenza virus (H5N1)โดยตรง หากจะระบาดจาก เชื้อไวรัสที่ปรับสายพันธุ์แล้ว ซึ่งจะกลายเป็น สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ในคน (Human Influenza virus)

2. ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ เป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดซ้ำ หลังจาก Spanish influenza(1918) , Asian influenza(1957) และ Hong Kong influenza(1968) เนื่องจากเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มนุษย์ยังไม่เคยมีภูมิคุ้มกันมาก่อน

3. โลกกำลังตกอยู่ในภาวะจวนเจียนต่อการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพียง H5N1 ปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ในคน เมื่อนั้นการระบาดใหญ่ก็จะเริ่มขึ้น

4. ทุกประเทศในโลกนี้จะได้รับผลกระทบโดยทั่วกัน เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น การระบาดครั้งก่อนใช้เวลา 6-9 เดือนกับการเดินทางโดยเรือ แต่กับทางเครื่องบิน คาดว่าใช้เวลาไม่นานเกิน 3 เดือน

5. ภาวะเจ็บป่วยจะเป็นไปอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมนุษย์ที่ยังไม่เคยมีภูมิคุ้มกันมาก่อน และ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่จะมีความพร้อมในการรับมือกับมัน

6. การสนับสนุนทางการแพทย์จะไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งสำคัญสองสิ่งคือ วัคซีน และ ยาต้านไวรัส จะขาดแคลนอย่างมาก

7. จะมีการตายอย่างมโหฬาร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 ประการ คือ จำนวนผู้ติดเชื้อ , ความรุนแรงของไวรัส , สุขภาพเดิมและความอ่อนแอของประชากร และ ความมีประสิทธิผลของระบบการป้องกันโรค

8. เศรษฐกิจและสังคมจะเกิดความหายนะอย่างรุนแรง

9. ทุกประเทศต้องร่วมกันเตรียมพร้อม ตามแนวทางที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ

10. องค์การอนามัยโลกจะเตือนภัยเป็นระยะเมื่อเกิดภาวะคุกคามจากไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้สถานการณ์ยังอยู่ในระยะที่ 3 คือ ไวรัสสามารถติดไปยังคน แต่ยังไม่ติดต่อจากคนไปสู่คน


WHO 14 October 2005

[Ref.0006 490830 http://www.who.int/csr/disease/influenza/pandemic10things/en/]



[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 30 Aug 2549 22:38]

PSS (Political Stress Syndrome)


กลุ่มอาการ เครียดจากการเมือง PSS (Political Stress Syndrome)

1. อาการทางกาย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติทั้งที่อยู่ในสภาพปกติ หายใจไม่อิ่ม แน่นท้อง ปวดท้อง ชา ตามร่างกาย
2. อาการทางจิตใจ วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออก สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่าน
3. ปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีการโต้เถียงกันกับผู้อื่น มีความคิดที่จะตอบโต้โดยใช้กำลัง มีการลงมือทำร้ายร่างกายเพื่อตอบโต้
กลุ่มเสี่ยง

กลุ่มนักการเมือง กลุ่มสนับสนุนนักการเมือง(ทั้งสองฝ่าย) กลุ่มผู้มีผลประโยชน์ กลุ่มผู้สนใจข่าวสารการเมือง และ กลุ่มผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเดิมอยู่แล้ว

[Ref.0005 490830 กรมสุขภาพจิต http://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=1004]

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 30 Aug 2549 21:00]

วันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2549

DHF


กระบวนทัพพิชิตยุงลาย 

เกณฑ์ให้สอ.เป็นทัพหน้า         รวมพลโยธาอาสาสมัคร
อบต.ชาวบ้านไม่หยุดพัก         โรมรันปฏิปักษ์เหล่ายุงลาย
มุ่งเน้นจัดการแหล่งเพาะพันธุ์     คว่ำขันกระโหลกกะลาหงาย
ทั้งพ่นยาตัวแก่ทั้งหยอดทราย    มุ่งหมายสิ้นซากทั้งวงจร
สา’สุขอำเภอเป็นทัพหลวง        บุกทะลวงตามติดไม่หยุดหย่อน
ทั้งอำเภอคือหน้าที่นั้นแน่นอน    ราญรอนตามผลงานของสอ.
ส่วนโรง’บาลนั้นหรือคือทัพหลัง  รวบรวมเสบียงกรังทั้งโรงหมอ
สนับสนุนทรัพยากรให้เพียงพอ  ทัพนี้หนอบุกครั้งใดไม่พ่ายเอย


[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 20 Aug 2549 11:37] http://www.gotoknow.org/blogs/posts/45425

วันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2549

ข่มขู่


คำว่า ข่มขู่ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ทำให้กลัว ทำให้เสียขวัญ

ในทางกฎหมาย มีความหมายว่า ทำให้ผู้อื่นต้องกลัวว่าจะเกิดความเสียหายเป็นภัยแก่ตนเอง แก่สกุลแห่งตน หรือแก่ทรัพย์สินของตน
ผู้ข่มขู่ย่อมต้องการให้ผู้โดนข่มขู่ยอมทำตามสิ่งที่ตนต้องการ

การข่มขู่ ไม่จำกัดรูปแบบ ไม่ว่าจะใช้วิธีการเช่นไร ก็เป็นการ ข่มขู่

การข่มขู่ ไม่จำกัดลำดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นใครกระทำต่อใคร ก็เป็นการ ข่มขู่

ไม่ว่าจะขู่ว่าจะลงโทษ หรือปลอบว่าจะลดโทษให้ ก็เป็นการ ข่มขู่

[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๐๔ ส.ค. ๒๕๔๙,๐๘:๒๓:๑๕]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 18 ตุลาคม 2549 10:22]

วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2549

Rabies Vaccine


การตัดสินใจว่าจะฉีด Rabies Vaccine หรือจะรอ ให้ดูสัตว์ที่กัดว่ามีคุณสมบัติดังต่อไปนี้หรือไม่
1. ได้รับการดูแลดี สัมผัสกับสัตว์อื่นน้อย
2. ได้รับ Rabies Vaccine ต่อเนื่องกัน 2 ปี
3. การกัดมีสาเหตุจูงใจ เช่น โดนตี โดนรังแก

หากครบทั้ง 3 ข้อ ให้รอดู 10 วัน หรือส่งตรวจตามปกติหากขาดข้อใดข้อหนึ่ง ฉีด Rabies Vaccine ได้เลย


[Ref.0003 490721 ศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนันท์ ]

[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 31 Jul 2549 11:10]

วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2549

Polio


ความก้าวหน้าในการกวาดล้างโปลิโอ

ขณะนี้มีเพียง 13 ประเทศที่รายงานผู้ป่วยโปลิโอ เป็นประเทศที่เป็นพื้นที่ระบาด (endemic)

4 ประเทศ คือ ไนจีเรีย อัฟกานิสถาน อินเดีย และ ปากีสถาน เป็นประเทศที่นำเข้าเชื้อโรค(importation)

9 ประเทศ คือ โซมาเลีย นามิเบีย บังกลาเทศ ไนเจอ เอธิโอเปีย คองโก อินโดนีเซีย เยเมน และ เนปาล (ข้อมูลเมื่อ 18 กรกฎาคม 2549) จากการเฝ้าระวังพบว่าสามารถกวาดล้าง Polio type 2 ได้แล้ว และ type 3 กำลังจะได้รับการยืนยัน จึงจะคงเหลือเพียง type 1 ที่ยังเป็นปัญหาระบาดอยู่

แนวโน้มการใช้วัคซีนป้องกันโปลิโอ จึงอาจใช้เป็น monovalent Polio type 1 


[Ref. 0001 490721 http://www.polioeradication.org , พญ.สุจิตรา นิมมานนิตย์]
[โพสต์ครั้งแรก ที่ Notes on Weblog Gotoknow 21 Jul 2549 10:55]

วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549

ปีใหม่ อย่าเผลอ


คนไทยเราฉลองปีใหม่กัน ๒ ครั้ง คือ ปีใหม่สากล และ ปีใหม่ไทย(สงกรานต์) ทั้งสองครั้งเป็นการฉลองที่ทำกันอย่างเอิกเกริก มีวันหยุดราชการยาวนาน คนไทยพากันเฉลิมฉลอง ตามอุปนิสัยของคนไทย ที่เป็นคนประเภท สุขนิยม แสวงหาความพึงพอใจอันเนื่องมาจากประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยเชื่อว่า การมี ความสุขทางประสาทสัมผัส นี้ ย่อมทำให้ เกิดความสุขทางใจ ตามมา บางท่านถึงกับถือคติว่า
จงกินและดื่มเถิด พรุ่งนี้เราก็ตาย
Eat and Drink for tomorrow we die.

คนไทยจึงอาศัยเทศกาลปีใหม่ เที่ยว ดื่ม กิน กันอย่างไม่บันยะบันยัง จนกระทั่งเกิดการตายในช่วงเทศกาลอย่างมโหฬาร เป็นการตายที่ไม่สมศักดิ์ศรี ตายด้วยอุบัติเหตุจราจร ตายด้วยสาเหตุที่ป้องกันได้ ตายกันมากจนถึงขั้นต้องจัดวันรณรงค์ กำหนดว่าในแต่ละเทศกาล ราชการจะอนุญาตให้ตายได้จำนวนกี่ราย วันปีใหม่ที่ควรจะเป็นวันแห่งความสุข ก็กลายเป็นวันอันตราย เรียกสัปดาห์เฉลิมฉลองปีใหม่และสงกรานต์ว่า ๗ วันอันตราย ญาติพี่น้องลูกหลานเดินทางช่วงปีใหม่หรือสงกรานต์ เหมือนไปสงคราม ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตรอดจากท้องถนนหรือไม่ ทำไมเราต้องเครียดขนาดนั้น ทำไมเราต้องทุกข์ขนาดนั้น ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องหันกลับมาช่วยกัน ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของราชการที่ต้องกลายเป็นผู้รับผิดชอบ ถึงเวลาที่ทุกคนต้องช่วยกัน ป้องกัน ภาวะอันตรายเหล่านี้เสียที

อุบัติเหตุจราจร มีสาเหตุจาก ๓ ปัจจัยที่สำคัญ คือ รถ คนขับรถ และ สภาพแวดล้อม การแก้ไขจึงต้องดำเนินการในทุกปัจจัย จึงจะสามารถป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนี้

การป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ตามปัจจัยสาเหตุหลัก ๓ ปัจจัย คือ

๑. ปัจจัยด้านคนขับรถ คนขับรถจะต้องมีความพร้อมในการขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่รถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ คนขับรถจะต้องมีความพร้อมใน ๓ ด้าน คือ

ความพร้อมด้านร่างกาย จะต้องมีร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคที่อาจเป็นอุปสรรคในการขับรถ ต้องไม่ง่วง ไม่เหนื่อย ไม่เพลีย ไม่ดื่มสุรา(เมาหรือไม่เมา ไม่ใช่สาระ เพราะไม่เคยเห็นคนเมาที่ไหนยอมรับว่าตัวเองเมา มีแต่บอกว่า...กูม่ายมาวววว...)

ความพร้อมด้านจิตใจ จะต้องมี สติสัมปชัญญะ คือ มีความรู้สึกตัวด้วยความรอบคอบ ไม่เผลอตัว ควบคุมอารมณ์ตนเองได้เมื่อเผชิญสถานการณ์ต่างๆ(เช่นภรรยาบ่นอยู่ข้างๆ)

ความพร้อมด้านความสามารถ คนขับรถต้องรู้กฎจราจร และต้องขับรถตามกฎจราจร ปฏิบัติตามสัญญาณจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็ว ไม่แซงในที่คับขัน ต้องรู้วิธีที่จะแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน คาดเข็มขัดนิรภัย หรือสวมหมวกกันน็อก(สวมหมวกกันน็อกต้องเลือกหมวกที่มีมาตรฐาน และรัดคางให้แน่นหนา) โปรดเข้าใจว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยและสวมหมวกกันน็อก ไม่ช่วยป้องกันอุบัติเหตุ แต่จะช่วยลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

๒. ปัจจัยด้านรถ รถจะต้องอยู่ในสภาพใช้งาน เหมาะสมกับสภาพถนน ต้องหมั่นตรวจสอบสภาพสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ เบรก สัญญาณไฟ แตร ลมยาง ฯลฯ

๓. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม แม้ว่าคนขับรถจะมีความพร้อมเพียงใด สภาพรถจะดีอย่างไร หากเจอสภาพถนนหรือสิ่งแวดล้อมที่มีปัญหาก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแบ่งออกเป็น ๓ ด้าน คือ

ด้านถนน เช่น ถนนโค้งหักข้อศอก ถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนที่สร้างไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมการจราจร ทางขึ้นเขา ลงเขา เป็นต้น

ด้านกายภาพอื่นๆ เช่น หมอก ควัน ฝนตก แสงสว่างที่ไม่เพียงพอ

ด้านอื่นๆ เช่น เครื่องหมายจราจรที่ไม่ชัดเจน(บางป้ายติดไว้เหมือนกลัวคนจะเห็น) เครื่องกั้น สัญญาณ ต่างๆ ป้ายโฆษณา(โดยเฉพาะป้ายที่เป็นภาพปลุกใจ นุ่งน้อยห่มน้อย เกิดอุบัติเหตุมาแยะ) ด่านตำรวจก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจเพิ่มอุบัติเหตุได้ หากบังเอิญตั้งอยู่ในที่คับขัน หรือซุ่ม จู่โจม รวมทั้งผู้โดยสารที่นั่งไปด้วยก็ถือเป็นสิ่งแวดล้อม ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ อาทิ ผู้โดยสารที่ขี้บ่น หรือชอบเชียร์ให้ขับเร็วๆ เชียร์ให้แซง เป็นต้น

ทั้งหมดนั้นเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ หากผู้ที่เกี่ยวข้องใส่ใจที่จะร่วมกันป้องกันในส่วนที่ตนรับผิดชอบ อุบัติเหตุจราจรก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องเตรียมพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์นั้น

การป้องกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอันตรายต่อชีวิต เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแล้ว โดยมีหลักการสำคัญคือ พบผู้ป่วยให้เร็วที่สุดและช่วยเหลือให้การรักษาถูกต้องครบถ้วน เป็นการลดอัตราการพิการและอัตราการตาย ภารกิจนี้ เป็นของหน่วยงาน สาธารณสุขรวมถึงหน่วยงานอาสาสมัครทั้งหลาย แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนที่สำคัญ คือ

๑. ภายนอกสถานพยาบาล เป็นการเตรียมทีมเพื่อรับผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ จากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยจากอุบัติเหตุจำนวนไม่น้อยมีอาการรุนแรงขึ้น อาจพิการ หรือถึงกับเสียชีวิต เนื่องมาจากการช่วยเหลือที่ผู้ช่วยเหลือไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้มีความรู้ไปช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ ซึ่งอาจเป็นทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ศูนย์กู้ชีพ มูลนิธิ องค์กรการกุศล ที่รับการฝึกอบรมแล้ว โดยขณะนี้ ประเทศไทยใช้หมายเลขโทรศัพท์เพื่อการเรียกใช้ศูนย์กู้ชีพ หมายเลขเดียวกันทั่วประเทศคือ ๑๖๖๙

๒. ภายในสถานพยาบาล เป็นบทบาทหน้าที่ของแต่ละสถานบริการที่จะต้องเตรียมความพร้อมทั้งกำลังคน อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ ให้พร้อมที่จะรับมือกับการเกิดอุบัติเหตุได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหน่วยงานด้านการแพทย์พยาบาลจะเตรียมพร้อมแค่ไหน ก็ไม่อาจช่วยเหลือชีวิตท่านได้เสมอไป จึงยังคงต้องกลับไปพิจารณาแนวทางป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุข้างต้นอย่างจริงจัง

ปีใหม่นี้จึงต้อง อย่าเผลอ
เตือนตนเองขณะขับรถเสมอว่า อย่าเผลอ
เตือนญาติและมิตรสหายว่า อย่าเผลอ

หากท่านเผลอ คุณค่าในตัวท่านจะเหลือแค่เพียง จำนวนศพที่หน่วยราชการจะนับเพิ่มขึ้นเป็นสถิติประจำปี เท่านั้นเอง


ฉุกเฉิน เรียก
1669


[พิมพ์ครั้งแรก ใบปลิว เมื่อ ๒๕๔๙]