วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2547

สมองดัมเบิลดอร์



 ใครที่ไม่เคยอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ พ่อมดน้อย ของ เจ.เค. โรว์ลิ่ง ก็อาจจะไม่คุ้นเคย ไม่รู้จัก ศาสตราจารย์ อัลบัส ดัมเบิลดอร์ ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนพ่อมดฮอกวอตส์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในหมู่พ่อมดทั่วโลก

ในตอนแฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี มีอยู่บทหนึ่งที่กล่าวถึง อุปกรณ์ชิ้นหนึ่งของดัมเบิลดอร์ ที่แฮร์รี่ พอตเตอร์ซุกซนไปล่วงรู้ความลับบางอย่างเข้า เรียกว่า เพนซิฟ (Pensieve) เป็นอุปกรณ์ที่อาจารย์พ่อมดดัมเบิลดอร์ใช้ในการถ่ายเทความคิด ความจำ ในสมองไปรวมกันไว้ เพื่อจัดระเบียบ และเพื่อประมวลความคิดความจำให้เป็นระบบ ขณะเดียวกัน ก็สามารถทำให้สมองมีเนื้อที่ ที่จะรับความรู้ใหม่ๆได้ดีขึ้น ซึ่งหากเป็นในคอมพิวเตอร์ คงเรียกว่าเป็นการ ดีแฟรกเม้นท์ (defragment) นั่นเอง

แน่นอนว่าในชีวิตจริงของคนเรา คงไม่สามารถทำเครื่องมือดังกล่าวขึ้นใช้ได้ ผู้เขียนเองก็ไม่ทราบว่า โรว์ลิ่ง ไปได้แนวคิดมาจากไหน จึงจินตนาการออกมาได้น่าตื่นเต้น สมกับที่เป็นหนังสือติดอันดับขายดีที่สุด   แต่หากเราลองมาทบทวนดูก็จะพบว่า แม้เราไม่สามารถใช้เครื่องมือใดๆถ่ายเทความคิดของเราออกมาได้ แต่เราก็สามารถที่จะทำสมองเราให้เหมือนสมองของดัมเบิลดอร์ได้เหมือนกัน

ทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นการทำสมองให้เหมือนสมองของดัมเบิลดอร์

ประเด็นสำคัญของสมองดัมเบิลดอร์ คือ การนำความคิด ความจำออก มาเรียบเรียงให้เป็นระบบ และ ผู้อื่นสามารถเข้าไปล่วงรู้ในความคิดนั้นได้ ดังนั้น หากท่านต้องการให้มีสมองเหมือนสมองดัมเบิลดอร์ ท่านต้องทำอย่างนี้ครับ

ประการแรก ท่านต้องหมั่นทบทวนความคิด ความรู้ รวบรวมประเด็นความคิดที่เป็นเรื่องเดียวกันให้สอดคล้องต่อเนื่องเป็นระบบ เมื่อได้รับรู้เรื่องใหม่ๆเข้ามา ต้องทบทวน เทียบเคียงกับความรู้ ความเข้าใจเดิม แล้วประมวลใหม่ให้เป็นเรื่องเดียวกัน และจดจำเป็นระบบ เรียกว่า คิดเป็นระบบ

ประการที่สอง ท่านต้องรู้จักฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เพื่อปรับแนวความคิดให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่ยึดติดกับความเห็นของตนเป็นหลัก ต้องฟังผู้อื่นมากๆ อย่าปิดกั้นโอกาสของผู้อื่นที่จะอธิบายความคิดเห็นของเขาต่อท่าน และไม่ปิดกั้นโอกาสของตนเองที่จะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ท่านต้องสามารถยอมรับสิ่งใหม่ๆได้ ไม่ว่า คนที่ท่านจะต้องรับฟังนั้น จะเป็นผู้ที่ท่านอยากฟังหรือไม่ ไม่ว่าสิ่งที่ท่านฟังนั้นท่านจะพอใจหรือไม่ การรับฟังนี้ รวมไปถึงการอ่านหนังสือ บทความ บทวิเคราะห์อื่นๆ อย่าทำตนเป็นคนไม่สนใจอะไร หรือที่เซ็น เรียกว่า ทำตัวเป็นชาล้นถ้วย  และเมื่อได้รับความรู้ใหม่ๆ ก็กลับไปประมวลผลตามประการแรกอีกครั้ง เรียกว่า รับรู้เป็นระบบ

ประการที่สาม ท่านต้องหมั่นแสดงความคิดเห็นของตน เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ ที่ท่านได้ประมวลไว้อย่างเป็นระบบ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม การมีความรู้มากแต่เก็บไว้เพียงผู้เดียว ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด การถ่ายทอดนั้น ท่านอาจใช้สื่อได้ในหลายรูปแบบ ทั้งพูดและเขียน แต่ต้องระมัดระวังที่จะทบทวนให้เป็นเรื่องราวเดียวกัน ต่อเนื่องกัน เรียกว่า ถ่ายทอดเป็นระบบ

และ ประการสุดท้าย ท่านต้องหมั่นเชื่อมโยงระบบข้อมูลต่างๆ ทั้งใหม่และเก่าให้สอดคล้องเข้าด้วยกัน เมื่อนำไปใช้ ก็สามารถใช้ได้ต่อเนื่องกัน เรียกว่า การเชื่อมโยงระบบ

ถ้าท่านทำสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ ท่านก็จะมีสมองที่สามารถรับรู้ และวิเคราะห์ข้อมูล โดยไม่มีอคติเจือปน  ท่านก็จะมีสมองที่เหมือนสมองของดัมเบิลดอร์ โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์อื่นใดมาช่วย

ยินดีด้วยครับ พ่อมด-แม่มด ทุกท่าน



[พิมพ์ครั้งแรก ว.๘ เมื่อ ๑๐-๐๘-๒๕๔๗ ]