วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2545

เจ้านายสั่งงาน


หลังจากเขียนบทความเรื่อง วิธีบริหารเจ้านาย และ การบริหารแบบจิ๊กซอว์ ให้เราๆท่านๆอ่านเพื่อปรับกระบวนยุทธ์ มีหลายท่านถามหาเทคนิคการบริหารแบบอื่นๆที่น่าสนใจ ก็ได้แต่ผลัดวันประกันพรุ่งกับตัวเองไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ ได้หนังสือดีมาอ่านเล่มหนึ่ง ชื่อว่า 4ปี ในวุฒิสภา บันทึกไว้ในใจเรา เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความซึ่งเขียนโดยอดีตวุฒิสมาชิก ชุดแต่งตั้ง รุ่นสุดท้าย ที่มากไปด้วยประสบการณ์ และความรู้หลากหลาย


เมื่ออ่านจบก็เกิดปิ๊งกับเรื่อง สั่งงานอย่างไรให้ได้ผล ซึ่งเขียนโดย ดร.ธนู กุลชล เห็นว่าน่าจะเอามาถ่ายทอดเป็นบทความสั้นๆสนองความต้องการของท่านๆได้บ้างกระมัง ( เอ ! หรือสนองความต้องการของตนเอง )

พูดถึงคำว่า เจ้านายกับลูกน้อง อาจก่อให้เกิดความรู้สึกในเชิงเจ้าขุนมูลนายอยู่สักหน่อย แต่ก็สื่อความหมายได้ชัดเจนกว่าคำอื่นๆ เมื่อใช้ในสังคมไทยเรา

ธรรมชาติของมนุษย์ไม่มีใครต้องการเป็นลูกน้อง เพราะจิตใต้สำนึกทุกคนต้องการมีอำนาจเหนือผู้อื่นเสมอ

แต่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าใหญ่นายโตแค่ไหน ก็ไม่พ้นต้องมีเจ้านายที่เหนือกว่าให้เราได้เป็นลูกน้องอยู่ร่ำไป

เมื่อมีเจ้านายกับลูกน้อง ก็ต้องมีการสั่งงาน และแน่นอน ต้องเป็นเจ้านายสั่งงาน ไม่ใช่ลูกน้องสั่งงาน วิธีสั่งงานมีได้ 2 ประเภท ได้แก่

การสั่งงานแบบเผด็จการ เป็นการสั่งงานชนิดที่ไม่ยอมให้ผู้อื่นคิด คิดว่าผู้อื่นไม่มีสมอง กลัวลูกน้องจะคิดไม่ออก หรือกลัวจะคิดผิดพลาด การสั่งงานแบบนี้ มีที่ใช้ในกองทหาร เพราะมีความจำเป็นในการปฏิบัติการ

มีเกร็ดเรื่องการฝึกทหารอยู่ว่า เหตุที่ต้องเริ่มฝึก ซ้ายหัน ขวาหัน ง่ายๆก่อน นั้นเพราะเพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าการโดนสั่งให้ปฏิบัตินั้น ง่าย ไม่มีผลเสียหายใดๆต่อผู้ถูกสั่ง หลังจากนั้นกระบวนการฝึกจะเพิ่มความยากทีละนิดจนเคยชิน ในที่สุด สมองก็จะถูกดูดไปจนหมด เมื่อไม่มีคำสั่ง ก็จะทำอะไรไม่ได้เลย

การสั่งงานแบบเผด็จการนี้ ผู้รับคำสั่งจะมีความอึดอัด รู้สึกตนเองไร้คุณค่า พาลเกิดความรู้สึกต่อต้าน ไม่อยากทำงานเอาเสียเลย เมื่อเจ้านายไม่ให้เกียรติที่จะรับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง ลูกน้องก็ทำตามคำสั่งที่ไม่ตรงความคิดของตนอย่างขอไปที ไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่สนใจว่าจะมีข้อเสียหายอะไรหรือไม่ เมื่อมีปัญหาข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะทำตามคำสั่งเจ้านาย

การสั่งงานแบบเผด็จการ มักเป็นคำสั่งที่ไม่ชัดเจน ( แต่คนสั่งคิดว่าชัดเจน ) เพราะไม่ให้โอกาสในการถกถาม ลูกน้องจึงต้องเอาไปตีความ อาจตีความผิด หลงประเด็น หรือเอาไปตีความแตกต่างกัน โต้แย้งกัน ในที่สุดก็ต้องไปให้เจ้านายสั่งใหม่ ขณะเดียวกัน เมื่อเจ้านายสั่งงานผิด ลูกน้องก็มักไม่ทักท้วงด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ อาจจะเกรงกลัว เกรงใจ หรือเกรงบารมี สุดแล้วแต่ ท้ายที่สุดงานที่เกิดขึ้นก็ผิดพลาด หากเจอเจ้านายที่ไม่ยอมรับผิด โทษว่าลูกน้องปฏิบัติผิด หรือรู้ว่าผิดทำไมไม่ท้วง ก็ยิ่งเซ็งหนักเข้าไปอีก

ที่แย่อีกอย่างคือ เจ้านายเผด็จการแล้วยังโลเล คือสั่งแล้วเปลี่ยน เปลี่ยนแล้วสั่ง อ้างว่าเพื่อความรอบคอบ บางเรื่องเปลี่ยนวันละหลายรอบ ท้ายที่สุด ลูกน้องก็งงไม่รู้จะทำงานอย่างไร

อากัปกริยาท่าทีขณะสั่งงาน ก็มีความสำคัญ เพราะสามารถสื่อความหมายได้มากกว่าคำพูดได้มากมาย คำพูดอาจไม่มีอะไร แต่ท่าทีอาจทำให้ลูกน้องรู้สึกถูกเหยียดหยามอย่างรุนแรงก็เป็นได้ ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

กล่าวโดยสรุป การสั่งงานแบบเผด็จการ แม้สามารถได้ผล ก็เพียงระยะสั้น และเจ้านายจะต้องหมั่นติดตามสั่งงานตลอด เจ้านายประเภทนี้จะเหนื่อย และรู้สึกว่าตนต้องคิดทุกเรื่องทุกประเด็น แต่ไม่ว่าจะเหนื่อยสักแค่ไหน ก็ต้องสั่งไปโดยตลอด เพราะท่านไม่ได้ใจของลูกน้องไว้เสียแล้ว

คลาเรนซ์ ฟรานซิส ประธานกรรมการบริษัท เยเนอรัล ฟูดส์ กล่าวว่า ท่านสามารถซื้อเวลาคนอื่นได้ แต่ไม่สามารถซื้อความกระตือรือร้น หรือความคิดริเริ่มของคนอื่นได้ และยิ่งไม่สามารถซื้อความจงรักภักดีของคนอื่นได้เลย

การสั่งงานอีกประเภทหนึ่งได้แก่ การสั่งงานแบบมีส่วนร่วม ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายความมากนัก เพราะทุกท่านคงเข้าใจอยู่แล้ว การสั่งงานแบบนี้ทำให้ลูกน้องเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของงาน ยินดีและเต็มใจทำงาน ตลอดจนคิดงานต่อ เมื่อเกิดปัญหาหรือเมื่อเห็นว่าจะทำงานให้ดีขึ้นได้ เมื่อมีโอกาสในการมีส่วนร่วมในการทำงานก็จะเข้าใจวัตถุประสงค์ของเจ้านายอย่างแท้จริง งานที่ได้จึงเป็นงานที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังก่อให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ๆไม่สิ้นสุด

ผู้เขียนหวังไว้ให้ท่านอ่าน ในฐานะที่เป็นเจ้านาย ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นลูกน้อง เพราะในความคิดลูกน้องแล้วย่อมมีอคติในความคิดเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงไม่เกิดประโยชน์อันใด

สำหรับลูกน้องที่เจ้านายให้โอกาสอยู่แล้ว กรุณาใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ หมั่นแสดงความคิดเห็นบ้าง(บ่อยๆยิ่งดี) ไม่งั้นท่านโดนเจ้านายดูดสมองไปหมดนะเออ

สำหรับเจ้านายที่ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นเผด็จการ แต่ยังต้องการเอาความคิดของตนเองไปให้ลูกน้องปฏิบัตินั้น ก็ไม่ยากเย็นจนเกินไป ที่จะใช้กระบวนการร่วมคิด สั่งงานแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้ลูกน้องเกิดความรู้สึกดีๆ แต่ไม่บอกในที่นี้นะครับ เดี๋ยวลูกน้องรู้หมด



[พิมพ์ครั้งแรก ว.๘ เมื่อ ๐๘-๐๑-๒๕๔๕]

วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545

อุจจาระร่วงอย่างแรง ทำไมเหมือน อหิวาต์ จัง



ท่านทั้งหลายครับ ขณะนี้ได้มีโรคระบาดที่น่าเป็นห่วงระบาดขึ้นในจังหวัดพิษณุโลก รวมถึงจังหวัดข้างเคียง โรคนั้นก็ได้แก่ โรคไข้หลี ก็ขี้ไหล หรือ อุจจาระร่วง นั่นแหละครับ แต่คราวนี้ไม่ใช่อุจจาระร่วงธรรมดา แต่มันเป็น อุจจาระร่วงอย่างแรง (Severe Diarrhea)

อาการของอุจจาระร่วงอย่างแรง ก็คือ การถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ (อย่างน้อย 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง) ถ่ายมากๆ อาจมีสีเหมือนน้ำซาวข้าว กลิ่นเหม็นคาว (ไม่เคยมีใครชิมรสชาดว่าเป็นอย่างไร แต่เดาเอาว่าน่าจะมีรสกร่อยๆ เค็มปะแล่มๆ เหมือนผงน้ำตาลเกลือแร่ขององค์การเภสัชกรรม) ถ่ายมากๆทำให้สูญเสียน้ำมาก อาจถึงขั้นช็อค เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน คนชรา และ เด็กเล็ก

ดูอาการแล้ว หลายท่านสงสัยว่า เอ! ทำไมอาการเหมือน อหิวาตกโรค จัง นั่นนะสิครับ ไม่เพียงแต่อาการเหมือนเท่านั้นนะครับ อื่นๆก็เหมือนด้วย ไม่ว่าจะเป็น การติดต่อ การรักษา และการป้องกันไม่ให้ติดโรค

การติดต่อ  โรคอุจจาระร่วงทุกชนิด ติดต่อทางการกินครับ อุจจาระร่วงอย่างแรงก็เช่นกัน เมื่อกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป เกิดอาการป่วย แล้วก็ถ่ายเอาเชื้อโรคออกมา ผ่านมือที่ไม่สะอาดหยิบอาหารกินเอง หรือให้ผู้อื่นกินต่อไป หรือปล่อยให้แมลงวันตอม เอาไปปล่อยต่อที่อื่น แพร่กระจายไปจนเกิดการระบาดขึ้น จำง่ายๆครับ การติดต่อที่สำคัญของอุจจาระร่วงอย่างแรง ได้แก่ 2 . กับ 2 . (อาหาร อุจจาระ มือ แมลงวัน)

การรักษา แต่ถ้าบังเอิญติดเชื้อเกิดอาการแล้ว การรักษาก็ง่ายครับ เมื่อท่านมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง อย่าซื้อยาประเภทให้หยุดถ่ายกินเอง เช่น น็อคซี่ (ก็เพราะมันจะน็อคท่านเอานะซี่) ให้กินน้ำเกลือแร่ ซื้อเป็นซองๆมาผสมตามข้างซอง หรือผสมเองก็ได้นะครับ น้ำต้มสุกสัก 1 ขวดแม่โขง(ขวดอย่างอื่นก็ได้ที่ขนาดเท่าๆกัน) น้ำตาลสัก 1 ช้อนโต๊ะ และเกลือ สัก 1 ช้อนชา ผสมแล้ว ดื่มบ่อยๆ ให้พอเพียงกับที่ถ่ายออกไป

เมื่อสงสัยว่าอาจจะรุนแรงถึงขั้นเป็น อุจจาระร่วงอย่างแรง ก็รีบไปหาหมอที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาล(ไม่ต้องกังวลว่า ตอนนี้เขาจะปฏิรูป หรือจะกระจายอำนาจอะไร ช่างเขาเถิด)

การป้องกัน การป้องกันก็ ง่ายมากครับ เพียงแค่ท่านและบุคคลในครอบครัวของท่าน

ดื่มน้ำสะอาด (ต้มสุกหรือใส่คลอรีน)
ปรุงอาหารให้สุก กินขณะร้อนๆ พวกลาบดิบ หลู้ดิบ งดนะครับ
อย่าเก็บอาหารไว้ค้างมื้อ (หากเก็บไว้ ต้องอุ่นให้ร้อนก่อนกินเสมอ)
ล้างมือให้สะอาด หลังออกจากห้องส้วมทุกครั้ง ล้างมือก่อนกินทุกครั้ง
ถ่ายในส้วม กำจัดแมลงวัน ไม่ให้กระจายเชื้อโรค

ว่าแต่ทั้งหมดนี่ ท่านต้องทำเอง นะครับ หมอ หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ ใครที่ไหนก็ไม่สามารถช่วยท่านได้ จะช่วยได้ก็ตอนท่านป่วยแล้วเท่านั้น อ้อ ! อาจช่วยไปร่วมงานศพ ได้ด้วย หากพลาดพลั้ง ท่าน ขี้ไหล จน ช็อค ตายไป (อาย ยมบาลจังเลย)


[พิมพ์ครั้งแรก ใบปลิว เมื่อ ๒๕๔๕]



เวชศาสตร์ครอบครัว เติมช่องว่างการดูแลสุขภาพ



นโยบายที่ฮือฮาที่สุดของรัฐบาล ฯพณฯทักษิณ  ชินวัตร ไม่มีเรื่องใดประสบผลสำเร็จเกิน เรื่อง ๓๐ บาทรักษาทุกโรค หรือที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ท่านผู้อ่านครับ สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่สุดของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็คือ การสร้างสุขภาพตนเอง ไม่ให้เจ็บป่วย นะครับ  มิใช่การรักษาพยาบาล ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถหางบประมาณมากมายมาจ่ายให้ท่านได้อย่างแน่นอน แม้ท่านจะต้องจ่ายเพิ่มเองครั้งละ ๓๐ บาท เพราะค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้งนั้นมากกว่า ๓๐ บาท เมื่อคิดคำนวณจากต้นทุนทั้งหมด

จากเดิม การดูแลสุขภาพของประชาชน โดยหน่วยงานสาธารณสุขนั้น จะดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นรายบุคคล และในภาพรวมของชุมชน โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า สาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งทั้ง ๒ วิธีนี้ก็ยังไม่สามารถลดอัตราการเกิดโรคได้เป็นที่น่าพอใจ

โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงกำหนดให้มีสถานบริการสุขภาพ ที่มีชื่อเรียกว่า ศูนย์สุขภาพชุมชน ซึ่งจะใช้กระบวนการที่จะทำให้ประชาชน ดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม ด้วยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่สาธารรณสุข เรียกว่า กระบวนการ เวชศาสตร์ครอบครัว  โดยมีแนวคิดว่า การที่ประชาชนจะสามารถสร้างสุขภาพให้แข็งแรงได้ จะต้องเกิดจากการดูแลสุขภาพภายในครอบครัวของแต่ละครอบครัว
แล้ว ศูนย์สุขภาพชุมชน แตกต่างจากโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัย ทั่วๆไปอย่างไร

ศูนย์สุขภาพชุมชน จะ ดูแลท่านครบทุกด้าน โดยจะ ให้ บริการแต่แรกทุกเรื่อง ต่อเนื่อง เบ็ดเสร็จ ผสมผสาน จัดระบบให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ประสานการปรึกษา และส่งต่อ

การให้บริการแต่แรกทุกเรื่อง ก็คือการที่จะจัดให้มีหมอประจำครอบครัวท่าน ซึ่งจะเป็น หมอคนแรก ที่ให้คำปรึกษาแก่ท่านและครอบครัวเรื่องสุขภาพทุกเรื่อง ตั้งแต่เกิดจนตาย

ต่อเนื่อง ก็คือ จะดูแลท่านและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง  ทั้งในเรื่องโรคที่ท่านเป็นอยู่ ทั้งในพื้นที่ ทั้งบุคคลและครอบครัว (คือเป็น หมอคนเดิม ตลอดในชุมชนเดียวกัน)

เบ็ดเสร็จ คือ จะดูแลท่านครบทุกด้านได้แก่ ดูแลท่านทั้ง กาย จิตวิญญาณ และสังคม ดูแลท่านทั้ง การรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และ การฟื้นฟูสภาพ ดูแลท่านทั้ง รายบุคคล รายครอบครัว และ ชุมชน ทำให้ท่านสามารถปฏิบัติตัวได้สอดคล้องกันกับทุกคนในครอบครัว และชุมชน

ผสมผสาน คือการให้บริการท่านนั้น กระบวนการเวชศาสตร์ครอบครัวจะพยายามให้สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทุกงานทุกกิจกรรม โดยคำนึงถึงตัวผู้ป่วย ครอบครัว ทีมงานเจ้าหน้าที่ เวลา และทรัพยากร เรียกง่ายๆว่า มาครั้งเดียวได้ทุกเรื่องเดียวกัน

จัดระบบให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ก็คือการที่จะจัดให้มีสถานบริการ ใกล้บ้าน ใกล้ใจ (ซึ่งก็คือ ศูนย์สุขภาพชุมชน นั่นเอง)

ประสานการปรึกษา คือหมอประจำครอบครัวของท่านจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานในการปรึกษาถ้าจำเป็น เช่น ต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางหรือไม่ ค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร เรียกจากบริษัทประกันได้หรือไม่ เป็นต้น (เอ… มากไปหรือเปล่านะ)

ส่งต่อ ถ้าจำเป็นต้องส่งต่อไปรักษา หมอประจำครอบครัวก็จะทำหน้าที่ประสานงาน ตามไปดูแลท่าน และรับดูแลต่อเมื่อแพทย์เฉพาะทางส่งตัวท่านกลับ

จะเห็นว่า กระบวนการ เวชศาสตร์ครอบครัว เป็นกระบวนการที่ ให้การดูแลครอบคลุมทุกเรื่องในครอบครัวของท่าน แต่ สุขภาพที่ดีไม่มีขาย นะครับ ท่านจะต้องร่วมใจร่วมกายกัน สร้างสุขภาพ ทั้งของตนเอง ของครอบครัว และของชุมชน  อย่างจริงจัง แล้วเราจะมีสุขภาพที่ดีไปพร้อมๆกัน

ท่านผู้อ่านครับ ท่านคงประจักษ์ชัดแล้วว่า สำหรับการดูแลสุขภาพของประชาชนแล้ว ศูนย์สุขภาพชุมชน และ เวชศาสตร์ครอบครัว คงจะเป็นคำตอบสุดท้าย แล้วครับ ท่าน

[พิมพ์ครั้งแรก ว.๘ เมื่อ ๒๕๔๕]



ปิดฉาก สงคราม ไข้เลือดออก (ซะที)



พี่น้องประชาชนที่รักทั้งหลาย

ท่านคงได้ติดตามข่าวสงคราม ยุทธการต่อต้านการก่อการร้าย (War Against Terror) ท่านรู้สึกเบื่อหรือไม่ครับ หลายท่านบอกว่ามันควรจะปิดฉากได้แล้ว เพราะคู่ต่อสู้ต่างระดับกันเหลือเกิน เหมือนการรณรงค์ป้องกันและควบคุมไข้เลือดออกเลยครับ รณรงค์กันอีกแล้ว(ครับทั่น) ส่วนใหญ่เมื่อได้ยินมักถามว่า เอาอีกแล้วเหรอ ทำไมรณรงค์กันบ่อยจัง

ก็โรคมันยังมีอยู่นี่ครับ ก็ยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคมันยังมีอยู่นี่ครับ เมื่อโรคยังมี พาหะยังมี ก็ยังต้องรณรงค์กันต่อไป

ทำอย่างไรถึงจะปิดฉาก อันแสนจะน่าเบื่อหน่ายนี้ได้สักที

คงต้องถึงจุด ตายกันไปข้าง แล้วกระมังครับ เราคงต้องรบกับ ยุงลาย แบบ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ถึงเวลาต้องอาศัยยุทธศาสตร์ทางสงครามมาช่วยจัดการ
ตอนนี้พ้นหน้าฝนเข้าสู่หน้าหนาวแล้ว ข้าศึก(ยุงลาย) มีจำนวนลดลง ต้องตามตีอย่าให้โงหัวขึ้นมาได้ เมื่อเราปูพรมทิ้งระเบิดไปหลายเดือนแล้ว ช่วงนี้เป็นช่วงส่งทหารราบเข้าจัดการ เราต้องตั้งเป้าหมายร่วมกันครับ ฝนหน้าต้องไม่มียุงลาย

สงครามไข้เลือดออกนี้ง่ายกว่า ยุทธการต่อต้านการก่อการร้าย ที่ตามล่าคนเพียงคนเดียว เพราะสงครามไข้เลือดออกมีเป้าหมายมากมาย แต่ชัดเจน คือ ยุงลาย  เมื่อเป็นสงครามก็ไม่จำเป็นต้องปราณี ฆ่าไม่ให้เหลือ เจอหน้าข้าศึกเป็นไม่ต้องละเว้น ไม่สนใจว่าเป็นชายหรือหญิง ไม่งดเว้นแม้ลูกเด็กเล็กแดง (โหดเหี้ยมจัง) ครับ กำจัด ทั้งยุงลายตัวเต็มวัย ลูกน้ำยุงลาย และ ไข่ยุงลาย ทั้งไม่ต้องห่วงว่าจะโจมตีผิดเป้าหมาย ผิดเผ่าพันธุ์ คือไม่ต้องเลือกว่าใช่ยุงลายหรือไม่ เอาว่าเป็น ยุง หรือลูกน้ำยุง ทำลายได้ทันที

ไข้เลือดออก เรามีศัตรูที่ต้องจัดการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ ยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรค ถ้าไม่ให้ยุงกัด เราก็ไม่เป็นไข้เลือดออกแน่ การป้องกันไม่ให้ยุงลายกัดเรานั้น สามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่นอนกางมุ้ง สุมไฟ จุดยากันยุง หรือทาน้ำมันตะไคร้หอม แต่การทำอย่างนั้นยุงลายก็ยังอยู่นะครับ  แล้วก็ยังตามไล่กัดเราและญาติมิตรได้อยู่ มีทางเดียวที่จะเด็ดขาดได้คือ ต้องประหาร อย่างเดียว และ ต้องกำจัดถึงแหล่งพักพิง แหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายให้หมดสิ้น วิธีการท่านก็ต้องช่วยกันหาแนวทางละครับ ลดได้มากเท่าไร ยิ่งดีเท่านั้น

สงครามคราวนี้ต้องช่วยกันคิดครับ ชุมชนแต่ละแห่งต้องปรึกษาหารือกัน เปิดประชาคมในชุมชนขึ้นมา ว่าชุมชนของท่านจะลุยกับไข้เลือดออกอย่างไร ถึงจะปิดฉากสงครามอันน่าเบื่อหน่ายนี้ได้

โรงเรียนทุกโรงเรียนครับ คุณครูต้องเป็นเสนาธิการ ละครับ จัดการให้แม่ทัพน้อยๆของท่าน กองทหารของท่าน ออกศึกด้วยความเหี้ยมหาญมากขึ้น ส่วนในวัด พระท่านทำไม่ได้ ชุมชนก็ต้องเข้าไปช่วยกันครับ

ถึงเวลาที่เราต้องประกาศแล้วครับว่า

บ้านต้องไม่มียุงลาย            มียุงลายไม่ใช่บ้าน
โรงเรียนต้องไม่มียุงลาย   มียุงลายไม่ใช่โรงเรียน
วัดต้องไม่มียุงลาย                มียุงลายไม่ใช่วัด

แล้วเรามา ปิดฉากสงครามไข้เลือดออกร่วมกัน

[พิมพ์ครั้งแรก ใบปลิว เมื่อ ๒๕๔๕]