วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2545

การใช้คน


แนวคิดนี้ได้มาจากสามก๊ก ฉบับคนขายชาติ โดยเรืองวิทยาคม หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ครับ


การเลือกใช้คน เป็นสิ่งที่สำคัญ หากมีคนดีอยู่แล้วไม่ใช้ หรือเลือกใช้คนที่ไม่เหมาะสม เปรียบเหมือน มีกระบี่วิเศษอยู่ แต่ไปตกอยู่ในมือพ่อครัว ถูกใช้หั่นผักหั่นเนื้อ กระบี่เล่มนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด

แต่ก็ไม่แย่เท่ากับ แม่ทัพเอามีดทำครัวออกศึก
จริงไหมครับ

[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๒๕ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๓:๒๒:๒๔]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 31 กรกฎาคม 2549 17:12]

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง stakeholder


กระบวนการระดมความคิด และ กระบวนการอื่นใดที่ต้องการความคิดเห็นร่วม เช่น กระบวนการประชาคม จำเป็นต้องเกิดจาก ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง(stakeholder) จึงจะทำให้ได้ความคิดในทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทุกวันนี้อยู่ที่ คนที่คิดว่า ตนเอง เป็น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholder) ทั้งๆที่...ไม่ใช่สักหน่อย...

[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๒๕ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๐:๑๑:๕๔]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 30 กรกฎาคม 2549 15:49]

การทำงานเป็นทีม


อาจารย์ นายแพทย์สุจริต ศรีประพันธ์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยสอนว่า

ลักษณะของทีมงาน มีอยู่ ๓ รูปแบบ คือ

๑. Football Team ลักษณะแบบทีมฟุตบอลนี้ ผู้ร่วมทีมสามารถช่วยกันได้หมด เมื่อขาดคนใดคนหนึ่งก็สามารถทดแทนกันได้ สามารถเปลี่ยนบทบาทกันได้

๒. Baseball Team ลักษณะแบบทีมเบสบอล จะเป็มทีมที่มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ร่วมทีมที่ชัดเจน ไม่สามารถแทนกันได้

๓. Double Tennis Team ลักษณะแบบทีมเทนนิส หรือกีฬาอื่นใดก็ตามประเภททีมคู่ จะเป็นทีมที่ผู้ร่วมทีมต้องเสริมกัน ช่วยกัน ขาดซึ่งกันและกันไม่ได้

ทราบแล้วก็เลือกรูปแบบใช้เองนะครับ

[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๒๕ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๐:๐๔:๐๔]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 30 กรกฎาคม 2549 15:47]

วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2545

ผู้นำ


แนวคิดนี้ได้มาจากสามก๊ก ฉบับคนขายชาติ โดยเรืองวิทยาคม หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ครับ

ผู้นำ มีภารกิจ ๒ ประการ คือ

๑. เป็นแกนนำในความสามัคคี(เพื่อให้ผู้ตามได้ร่วมมือร่วมใจสู่เป้าหมาย)
๒. ชี้ทิศนำทาง(ให้เห็นเป้าหมายที่ชัดเจน)

หากผู้นำคนใดไม่สนใจกุมภารกิจทั้ง ๒ ประการนี้ มัวแต่สาละวนอยู่แต่เรื่องเล็ก จู้จี้จุกจิก ไม่เป็นสาระ ย่อมประสบความล้มเหลว และจักต้องสูญเสียฐานะผู้นำอย่างไม่ต้องสงสัย

แล้วคุณคุณเป็นผู้นำรึเปล่าครับ เป้าหมายก็ไม่ชี้ แถมยังชวนแตกก๊กแตกเหล่ามากมาย สงสัยจังเลย


[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๒๔ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๑:๐๗:๐๘]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 28 กรกฎาคม 2549 12:59]

การตรงต่อเวลา


การตรงต่อเวลา ไม่ได้หมายความเพียงคำว่า ไม่สาย เท่านั้น

หากแต่หมายถึง การเตรียมพร้อมเพื่อให้การนัดหมายนั้นๆสามารถเดินไปได้ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งก็คือ การไปก่อนเวลา นั่นเอง

อาจารย์ นายแพทย์สุจริต ศรีประพันธ์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยสอนว่า
การไปร่วมงาน ต้องไปก่อนเวลา
และการไปก่อนเวลานั้น ต้องให้เหมาะสม คือ
ไม่ไปกระชั้นชิด จะทำให้ผู้จัดงาน กระวนกระวาย ไม่แน่ใจว่าจะเปิดงานได้ตามเวลาหรือไม่
แต่ก็ไม่ควร ไปก่อนเวลามาก เพราะจะทำให้ผู้จัดงานลำบากใจ อึดอัด ไม่รู้จะเอาไปไว้ตรงไหน เพราะงานอาจจะยังเตรียมการณ์ไม่เรียบร้อย

การตรงต่อเวลา เป็นพฤติกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้นะครับ

[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๒๔ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๑:๐๙:๒๘]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 28 กรกฎาคม 2549 13:00]

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2545

ความตะหนัก(Concern)


เรามักบอกว่าประชาชน ไม่ตระหนัก ในการดูแลสุขภาพตนเอง(หรือเรื่องอื่นๆ)

มีใครรู้บ้างว่า แท้จริงแล้ว เป็นหน้าที่เราที่มีหน้าที่ทำให้ประชาชนมีความตะหนัก

เรายังทำไม่ได้ดีพอหรือเปล่า

หรือว่า เรากระมังที่ยังไม่ตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตัวเราเอง

[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๑๙ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๓:๓๐:๐๐]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 28 กรกฎาคม 2549 12:53]

วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2545

ลูกตุ้มนาฬิกา


ถ้าเราเปรียบความดีกับความเลวเป็นเหมือนการแกว่งของ ลูกตุ้มนาฬิกา

ความดีกับความเลวก็อยู่กันคนละสุดด้าน

วันนี้เราเจอความเลว ก็เป็นเพียงจังหวะแกว่งของลูกตุ้มนาฬิกา
เมื่อมันแกว่งไปถึงจุดที่เลวที่สุดแล้ว มันก็ต้องแกว่งคืนกลับมาทางความดี

ปัญหามีเพียงว่า วันนี้มันสุดด้านเลวหรือยัง

มันยังจะเลวไปกว่านี้อีกหรือ โอ้โฮ

[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๑๘ ก.ย. ๒๕๔๕,๐๙:๓๑:๒๓ ]

[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 28 กรกฎาคม 2549 10:21 ]

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2545

ห้าสุดยอดวิชาขันที


วิชานี้ได้มาจากสามก๊ก ฉบับคนขายชาติ โดยเรืองวิทยาคม หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ครับ

ห้าวิชาสุดยอดนี้ เป็นกระบวนวิชาที่ทำให้ขันทีสามารถดำรงอำนาจ ถึงขั้นครอบงำฮ่องเต้ อยู่ในราชสำนักได้อย่างยาวนาน คือ

๑. วิชาว่าด้วยการพินอบพิเทาสร้างความพอใจสูงสุด(ก็เลียแข้งเลียขา ประเภทลิ้นกระดาษทราย น้ำลายแล็คเกอร์ นั่นแหละครับ)
๒. วิชาว่าด้วยการสร้างความแตกแยก เพื่อแสวงผลประโยชน์ให้ตนเอง
๓. วิชาว่าด้วยการฆ่าคน โดยการใช้วาจาเป็นอาวุธสังหาร
๔. วิชาว่าด้วยการเรียกรับสินบน เพื่อผลประโยชน์ และ
๕. วิชาว่าด้วยการให้สินบนซื้อน้ำใจคน


คุณๆ จบไปกี่กระบวนท่าแล้วละครับ


[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๑๗ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๓:๐๖:๐๐]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 26 กรกฎาคม 2549 17:02]

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2545

ข้อคิดจากปลวก


ที่บ้านผมมีปลวกขึ้นครับ ซึ่งคงไม่แปลก บ้านใครๆก็มีปลวกขึ้นได้

แต่ที่บ้านผม ปลวกขึ้นสายไฟครับ มันกินสายไฟจนถึงลวดทองแดง
กว่าจะหาสาเหตุได้ ก็เกือบต้องให้กองพิสูจน์หลักฐานมา สันนิษฐาน ว่า เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ซะแล้ว
เพราะก็เกิดไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นจริงๆ จากปลวกกินสายไฟนี่แหละ
ปลวก ยังไม่ยอมอดตายเลยครับ มันพัฒนาไปจนคาดไม่ถึง แล้วเราเป็นคนเป็นมนุษย์ จะยอมอะไรง่ายๆเชียวหรือครับ
อายปลวกมัน
[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๑๖ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๑:๓๙:๓๘]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 26 กรกฎาคม 2549 16:56]

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2545

การบริหารกับคอมพิวเตอร์


ผมดีใจที่เป็นคนทันยุคครับ ยุคนี้เป็นยุคที่โลกอยู่ในกระแส IT
ยุคที่ประเทศไทยกำลังจะมี กระทรวง ICT (Information and Communication Technology Ministry)

ผมว่า การบริหารก็เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ แหละครับ (ไม่ใช่ว่าเหมือนที่ ไม่มีความคิดอะไร แบบ Garbage in Garbage out นะครับ)

การบริหารเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ตรงที่ ทำๆไปมันก็รวนออกบ่อย

ไม่ว่าผู้บริหารจะเก่งแค่ไหน ไม่ว่าคอมพิวเตอร์จะรุ่นยอดเยี่ยมแค่ไหน
บางทีก็ประมวลผลออกมาสับสน ผิดพลาด มากบ้างน้อยบ้าง บางครั้งดูตลกด้วยซ้ำไป ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ตามมามากมาย
ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยอื่นเข้ามากระทบแยะ ทั้งลงโปรแกรมผิด ทั้งกรอกข้อมูลผิด บางทีก็เป็นพวกตัวป่วน เหมือนพวกไวรัสไงครับ

วิธีแก้ก็ง่ายๆ

Reset บ้างเถอะครับ ไม่ต้องรอจนเครื่อง Hang หรอกน่า

[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๑๓ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๒:๕๙:๑๐]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 24 กรกฎาคม 2549 11:05]

กำลังใจ


แม้ว่าจะมีความสับสน ไม่มั่นใจ ผิดหวัง แต่ไม่ควรจะหมดกำลังใจ

หากยังมีกำลังใจ ก็จะมีพลังในการสร้างความหวัง เกิดความมั่นใจ และ หายสับสน

กำลังใจ ต้องสร้างที่ตัวเราเองก่อน

อ้อ ! เมื่อตัวเรามีกำลังใจแล้ว อย่าลืมช่วยคนอื่นสร้างกำลังใจด้วยล่ะ

...ขุนเขาไม่อาจขวาง
สายทางเที่ยงธรรมได้
ความหวังยังพริ้มพราย
เก่าตายมีใหม่เสริม
ชีวิตที่ผ่านพบ
มีลบย่อมมีเพิ่ม
ขอเพียงให้เหมือนเดิม
กำลังใจ...






[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๑๓ ก.ย. ๒๕๔๕,๐๙:๓๙:๒๙]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 24 กรกฎาคม 2549 11:03]

วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2545

ประชาคมเจ้าเล่ห์


ผู้เขียนเองนั้น นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีแนวความคิดเป็นแบบ เผด็จการ (Dictator) เต็มตัว ยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อกระแสแนวทางการทำงานแบบประชาธิปไตยรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการประชาธิปไตยแบบที่เรียกว่า ประชาคม หรือ ประชาสังคม แพร่หลายมากขึ้น ผู้เขียนก็บังเกิดวิตกจริตมากขึ้น ว่าจะทำอย่างไรจึงจะดำรงความคิดแบบเผด็จการของตนไว้ให้ได้ โดยให้สอดคล้องกับในทางปฏิบัติตามกระแสสังคมปัจจุบัน

ประชาคม มีความหมายตามพจนานุกรมว่า ชุมชน , กลุ่มชนซึ่งอยู่รวมกันและมีการติดต่อสัมพันธ์กัน แต่ประชาคม หรือประชาสังคมที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในขณะนี้ แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Civil Society มีความหมายที่ผู้รู้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันมากมาย สรุปเป็นที่เข้าใจกันได้ว่า เป็นกระบวนการ คิดแก้ไขปัญหาหรือจัดการปัญหาร่วมกันของสังคมหรือชุมชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (steak holder) โดยมีวัตถุประสงค์ อุดมคติ และความเชื่อร่วมกัน

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ผู้เขียนก็ยิ่งทำใจลำบาก เพราะถ้าใช้กระบวนการประชาคมในงานบริหารทุกๆงานแล้ว ผู้เขียน ในฐานะ ผู้บริหาร ก็คงจะไม่รู้จะวางตัวอย่างไร จำเป็นต้องใช้ ทฤษฎีภาวะผู้นำแบบใช้เล่ห์เหลี่ยม (Machiavellian Leadership) เข้ามาช่วย ซึ่งหลักการของทฤษฎีนี้จะสนับสนุน การใช้เล่ห์เหลี่ยม (Craft)  การตีสองหน้า (Duplicity) และ ความฉลาด แกมโกง(Cunning) เป็นหลักในการปกครองเพื่อเพิ่มอำนาจบารมีและความสำเร็จ และเพื่อเน้นประโยชน์เพื่อให้งานสำเร็จเป็นที่ตั้ง จึงไม่ต้องใส่ใจกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คนก็เป็นเสมือนสิ่งของ ไม่ต้องสนใจพันธะสัญญาที่ควรจะเป็น

ในกระบวนการประชาคมแบบใช้เล่ห์เหลี่ยม จึงควรเป็นเช่นนี้ กระมังครับ

๑. จัดการจัดประชุมประชาคม( ภาษาประชาคมต้องเรียกว่า เวทีประชาคม ) ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้เขียน โดยการจัดองค์ประชุมให้สับสน ประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย หลายระดับ ยิ่งมีความสัมพันธ์ในแนวดิ่งยิ่งดี (แต่ให้ดูเหมือนเป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้อง คือกลุ่มคนผู้ร่วมเวทีประชาคมอันเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ควรมาจากผู้ที่มีความสัมพันธ์กันในแนวราบ และมีส่วนร่วมในเรื่องที่จะพูดคุยกัน) และ ต้องพยายาม อย่าให้ ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะแสดงความคิดเห็นตรงข้ามได้เข้าร่วมประชุมด้วย

๒. ใช้จุดอ่อนของประชาคมให้เป็นประโยชน์ จุดอ่อนของประชาคมคืออะไร จุดอ่อนของประชาคมก็คือจุดที่กระบวนการประชาคม คิดว่าแข็งที่สุดนั่นเอง ก็คือกระบวนการคิดของผู้มีส่วนร่วม แต่ ผู้มีส่วนร่วมในสังคมไทยเรา มักไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น ทั้งจาก ความไม่กล้าแสดงออก ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยเฉพาะของคนไทย และ ความไม่รู้  ความขี้เกรงใจ ไม่ชอบโต้แย้ง โต้เถียงด้วยเหตุผล โดยเฉพาะ การเกรงใจต่อผู้อาวุโส (ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ หรือ ธนวุฒิ) หรือผู้บังคับบัญชา

๓. ชี้นำประชาคม โดยต้องพยายามเข้าไปมีบทบาทในการนำประชาคมให้ได้ เช่นเป็นผู้นำในการประชุม (moderator) เมื่อนำได้  ก็จะสามารถชี้นำให้ประชาคมถกกันได้ในประเด็นที่เราต้องการ แต่ทำให้ดูเหมือน ประชาคมผู้มีส่วนร่วมนั้น มีอำนาจในการคิด การตัดสินใจ โดยใช้ทั้งวิธีการ คุกคาม ข่มขู่ ทุกรูปแบบ แต่นิ่มนวล เชือดเฉือนด้วยคำพูด ให้คิดตามเราให้ได้ ตัดบท เมื่อมีแนวโน้มว่าจะออกนอกทางที่เรากำหนด

๔. ชิงสรุป อาศัยช่วงเวลาที่ประชาคมกำลังสับสน ชิงสรุปในประเด็นที่เราต้องการ ส่วนใหญ่ขี้เกรงใจ ไม่ค่อยมีใครทักท้วง

๕. จัดประชุมประชาคม ในเรื่องเดียวกัน ในหลายๆกลุ่ม อย่าให้คนเดิมได้มีโอกาสเข้าร่วมบ่อยนัก เพื่อจะได้เติมประเด็นได้ในการสรุปในภายหลัง ก่อนที่จะเผยแพร่  ส่วนใหญ่ไม่ได้จดได้จำว่า เคยคุยกันไว้อย่างไร ถึงแม้จำได้ ก็สามารถอ้างได้ว่าเป็นบทสรุปจากการทำเวทีประชาคมครั้งที่ผู้ท้วงไม่ได้เข้าร่วม

ครับ ประชาคม แบบ Devil Society ที่ผู้เขียนวางแผนไว้นี้ ก็น่าสำเร็จได้ไม่น้อย ท่านรู้แล้วเฉยไว้นะครับ อย่าไปบอกใคร  อย่าแสดงตนให้รู้นะว่ารู้ทัน โกรธจริงๆด้วย

[พิมพ์ครั้งแรก ว.๘ เมื่อ ๑๒-๐๙-๒๕๔๕]

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2545

นักวางแผนที่ดี


นักวางแผนที่ดี จะต้องมีจิตใจเป็น นักวิชาการ

นักวิชาการที่ดี จะต้องมีความรู้ ๔ มิติ คือ

๑. รู้ลึก คือ รู้ลึกในเรื่องที่กำลังทำอยู่
๒. รู้กว้าง คือ รู้ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง
๓. รู้ยาว คือ รู้ว่าจะมีปัจจัยอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องอีกในอนาคต

๔. รู้เวลา คือ รู้ว่าเวลาใดควรทำอะไร
และที่สำคัญ ต้องมีจิตใจเป็น นักการบริหาร(ยีนเด่น) คือต้องวางแผนให้แผนนั้นสามารถทำได้ และเกิดประโยชน์

หากทำเช่นนี้ได้ แผนที่วางไว้ จะได้รับการนำไปปฏิบัติจนประสพผลสำเร็จ


[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๙ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๑:๔๔:๒๖]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 24 กรกฎาคม 2549 11:01]
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/40548
แก้ไขเมื่อ ๑ ก.พ. ๒๕๖๑

นักบริหาร DOMINANT VS นักบริหาร RECESSIVE


ถ้าเรากำหนดให้มียีน(gene) กำกับความเป็นนักบริหาร ก็จะมียีนอยู่สองประเภท คือ ยีนนักบริหารเด่น(Dominant) และ ยีนนักบริหารด้อย(Recessive)
มีความแตกต่างระหว่างยีนเด่นและยีนด้อย ดังนี้ครับ

๑. นักบริหารเด่น ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก นักบริหารด้อย ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่
๒. นักบริหารเด่น ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย นักบริหารด้อย ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก
๓. นักบริหารเด่น ชอบรับฟังความเห็นของคนหลายคนมาประยุกต์ใช้ นักบริหารด้อย ชอบยึดความคิดเห็นของตนเป็นหลัก
๔. นักบริหารเด่น ชอบทำงานเป็นทีม นักบริหารด้อย ชอบทำงานคนเดียว
๕. นักบริหารเด่น ไว้ใจผู้อื่น มักมอบหมายภารกิจให้ผู้อื่นทำแทน นักบริหารด้อย ไม่ไว้ใจใคร มักทำงานด้วยตนเอง
๖. นักบริหารเด่น มองเห็นความสำคัญของผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่ามีความสำคัญในงาน นักบริหารด้อย ชอบทำให้ผู้อื่นเห็นความสำคัญของตน จะขาดเสียมิได้ ฯลฯ


แล้วท่านละ มียีนแบบไหน Dominant หรือ Recessive
(อันนี้ไม่ใช่นิทานครับ แต่ก็ผ่านการดัดแปลงมานิดหน่อย)

[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๙ ก.ย. ๒๕๔๕,๐๘:๕๘:๐๖]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 23 กรกฎาคม 2549 18:24 ]


นี่ก็นิทานครับ


อาจารย์ชุมนุม พรหมขัติแก้ว คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าให้ฟังว่า

เมื่อสมัย ฯพณฯ บุญสม มาร์ติน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นั้น ท่านชอบเล่านิทานให้ที่ประชุมฟังอยู่บ่อยๆ โดยที่ท่านเป็นคนที่ไม่ชอบการทำงานที่อะไรๆก็ต้องตั้งคณะกรรมการ ครั้งหนึ่งท่านเล่าว่า
มีอยู่วันหนึ่งเจ้าอูฐ ได้เข้าไปร้องเรียนกับพระเจ้าว่า พระเจ้านั้นไม่เป็นธรรม ที่ได้สร้างสัตว์อื่นๆออกมาได้รูปร่างสวยสดงดงาม สมส่วน แต่มำไมสร้างอูฐออกมาได้อัปลักษณ์ยิ่งนัก
พระเจ้ามองเจ้าอูฐด้วยความพินิจพิจารณา และก็ค่อนข้างเห็นด้วย จึงถามวันเดือนปีเกิดของอูฐ แล้วก็พลิกแฟ้มข้อมูลดู สักครู่ก็ได้คำตอบ พระเจ้าจึงบอกเจ้าอูฐด้วยความเวทนาว่า

เอ้อ วันนั้นนะ ข้าไม่อยู่ ติดราชการอื่น จึงวานให้ คณะกรรมการเขาช่วยกันออกแบบ

เรื่องมันก็เป็นเช่นนั้นแหละเจ้าอูฐเอ๋ย

(แต่พระเจ้าก็ไม่ได้บอกนะว่า คณะกรรมการพวกนั้น เป็น นักวิชาการ ด้วยรึเปล่า)



[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๙ ก.ย. ๒๕๔๕,๐๘:๓๘:๔๕]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 23 กรกฎาคม 2549 18:22]

วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2545

ผมมีนิทานจะเล่าให้ฟังครับ


มีราชสีห์ตัวหนึ่ง ปกครองหมู่บรรดาสัตว์ป่ามาด้วยความสุขพอสมควร

ต่อมามีกลุ่มสุนัขจิ้งจอกกลุ่มหนึ่ง พยายามจะครอบงำราชสีห์ตัวนั้น ราชสีห์คิดว่าตนจะควบคุมฝูงจิ้งจอกได้และจะได้อาศัยจิ้งจอกฝูงนี้เป็นมือเป็นเท้าในการหาอาหาร และอามิสทั้งหลาย จึงสังหารราชสีห์รองๆเสียหลายตัว ลอกเอาหนังไปคลุมสุนัขจิ้งจอกให้ดูเหมือนพวกเดียวกัน
แต่อนิจจา จิ้งจอกย่อมเป็นสุนัขเหมือนสุนัขทั่วไป แม้มันพยายามจะคำรามเพียงใด เสียงที่ออกมาก็เหมือนเสียงเห่าหอน

กว่าราชสีห์จะรู้ตัว เสียงคำรามของ ฯพณฯราชสีห์ก็เหมือนฝูงจิ้งจอกไปเสียแล้ว

เอ้อ มันเป็นนิทานนะครับ

[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๖ ก.ย. ๒๕๔๕,๐๘:๕๒:๔๓]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 23 กรกฎาคม 2549 18:18 ]
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/40450