วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2545

หลงทาง


สาเหตุของการ หลงทาง แล้วไม่สามารถหาทางกลับมาจุดเดิมได้ อยู่ที่ การตัดสินใจ ณ จุดเริ่มต้น

เมื่อเริ่มต้นผิดพลาด หลังจากนั้นย่อมผิดหมด แม้ว่าจะเลี้ยวซ้ายหันขวาถูกต้องอย่างไรก็ตาม

เพราะได้เริ่มต้นผิดเสียแล้ว
มีทางเดียว คือ ต้องหันหลังกลับไปเริ่ม ณ จุดเริ่มต้นใหม่

พร้อมหรือไม่ครับ


[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๒๗ ธ.ค. ๒๕๔๕,๑๓:๑๕:๑๕]

[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 09 สิงหาคม 2549 19:44]

R & D (Research and Development)


คนไทยเราไม่ค่อยชอบการทำค้นคว้าวิจัย ไม่ชอบ R&D (Research and Development)

คนไทยเราชอบประเภทลอกเลียนแบบ เราชอบประเภท C&D (Copy and Development) มากกว่า

แต่ C&D ก็ทำให้ประเทศเราพัฒนาและก้าวหน้ามาได้ไม่น้อย
ปัจจุบัน คนไทยเราเปลี่ยนไปครับ

เราเริ่มนิยม C&P มากขึ้น

C&P (Copy and Paste) ลอกแล้วแปะ เร็วดีครับ



[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๒๗ ธ.ค. ๒๕๔๕,๑๓:๐๖:๔๗]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 09 สิงหาคม 2549 19:43]

วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2545

เลียแข้งเลียขา


จำทฤษฎี การกระตุ้นและการสนองตอบ ของ Pavlov ได้หรือไม่ครับ

Pavlov มีสุนัขตัวหนึ่ง เมื่อสั่นกระดิ่งแล้วให้อาหารเป็นรางวัล เมื่อฝึกบ่อยๆพบว่า แม้ไม่มีอาหาร สุนัขก็น้ำลายไหลได้ เมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง
เพราะสุนัขเกิดการเรียนรู้
เมื่อเรียนรู้ว่าการเอาใจเจ้านายแล้ว จะได้รางวัลตอบแทนเสมอ
แม้ไม่ต้องเคยปฏิบัติด้วยตนเอง ก็เรียนรู้ได้ว่า ควรจะเอาใจเจ้านายอย่างไร

ดังนั้น การเลียแข้งเลียขา จึงไม่หมดไปสักที

[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๖ ธ.ค. ๒๕๔๕,๑๒:๑๔:๔๓ ]

[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 09 สิงหาคม 2549 19:41 ]



http://www.gotoknow.org/blogs/posts/43859

สยามเมืองยิ้ม


คนไทยชื่นชมยินดีกับที่ฝรั่งเรียกเราว่า สยามเมืองยิ้ม


ความจริงเราก็ไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด ว่ามีสาเหตุมาจากที่ใด
แต่เราก็ตู่เอาว่า น่าจะเกิดจากเรามีวัฒนธรรมที่ดี และ ยิ้มสวย
ความจริงทุกวันนี้ เวลาเราเจอฝรั่งเราก็ยิ้มทุกที แต่เป็นการยิ้มแหะๆ เพราะพูด หรือฟัง ภาษาฝรั่งไม่ได้

สยามเมืองยิ้ม อาจเกิดมาจากการยิ้มแหะๆ มาตั้งแต่โบราณกระมัง

[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๖ ธ.ค. ๒๕๔๕,๑๒:๐๘:๕๓]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 09 สิงหาคม 2549 19:40]

วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2545

หมากรุก


หมากรุก เป็นเกมส์ที่มีเล่นอยู่ในหลายชาติหลายภาษา ซึ่งดูแล้วก็คงมีที่มาใกล้เคียงกัน

แต่ดัดแปลงกฎกติกาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาติตน
กติกาในการเล่นหมากรุก จึงเป็นตัวบ่งบอกถึงประเพณี วัฒนธรรมของชาติผู้เป็นเจ้าของนั้นๆ
หมากรุกไทย มีกติกาหนึ่งที่ยอมให้ขุนของฝ่ายเสียเปรียบหนีได้เมื่อใกล้ เข้าตาจน โดย ฝ่ายได้เปรียบ จะเป็นฝ่ายรุกไล่

หากไล่ครบตามกติกาแล้ว ฝ่ายเสียเปรียบยังหนีไปได้ เรียกว่า ไล่ไม่จน ก็ให้ถือว่าหมากกระดานนั้นเสมอกัน
การหนีจึงไม่ใช่การพ่ายแพ้เสมอไป หากสามารถหนีจนมีชีวิตรอดได้
วัฒนธรรมไทยเรา จะให้โอกาสผู้ด้อยกว่าเสมอครับ


[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๓๐ ต.ค. ๒๕๔๕,๐๙:๔๘:๔๙]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 04 สิงหาคม 2549 15:30]

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2545

อำนาจ


แนวคิดนี้ได้มาจากสามก๊ก ฉบับคนขายชาติ โดยเรืองวิทยาคม หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ครับ

โบราณว่า ถ้าผู้ใดเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์ครั้งหนึ่ง ก็มีน้ำใจกว้างขวางคิดการกำเริบได้ถึงพันครั้ง


ดังนั้น อย่าให้ใครได้มีโอกาสมีอำนาจ เพราะอำนาจเป็นสิ่งเสพติด


แม้แต่เด็ก เมื่อได้ลองลิ้มอำนาจ เมื่อมีโอกาส ก็คิดโค่นล้มผู้ใหญ่




[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๒๙ ต.ค. ๒๕๔๕,๑๐:๔๒:๐๐]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 04 สิงหาคม 2549 15:28]

วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2545

ความคิดกึ่งสำเร็จรูป


อาหารในปัจจุบันมีทั้งประเภท ปรุงสำเร็จ คือ อาหารที่สามารถรับประทานได้ทันที

กับอาหารประเภท กึ่งสำเร็จรูป คือ ต้องนำมาปรุงต่อด้วยวิธีง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เช่น เติมน้ำร้อน ก็สามารถรับประทานได้

ผู้บริโภคมักเข้าใจว่าตนเป็นผู้ปรุงอาหารนั้นเอง ทั้งๆที่อาหารกึ่งสำเร็จรูป เป็นอาหารที่ผู้บริโภคไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่ถูกกำหนดมาชัดเจนได้ ต้องเป็นไปตามที่กำหนดแล้วเท่านั้น


ความคิดหลายอย่าง เป็น ความคิดกึ่งสำเร็จรูป ครับ


[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๒๑ ต.ค. ๒๕๔๕,๑๖:๐๘:๐๖]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 04 สิงหาคม 2549 09:08]

เสือกับเหยี่ยว


แนวคิดนี้ได้มาจาก สามก๊ก ฉบับแปลใหม่ โดย วรรณไว พัธโนทัย ครับ
.....ธรรมดา เสือถ้าได้กินเนื้ออิ่มก็เป็นปกติอยู่ ถ้าไม่อิ่มก็จะกัดกินคนเลี้ยง
สำหรับเหยี่ยว ตราบใดที่หมาจิ้งจอกกับกระต่ายยังไม่หมดป่า ตราบนั้นเหยี่ยวก็จะไม่ยอมอิ่ม เหยี่ยวหิวจึงใช้การได้ดี ถ้าอิ่มแล้วก็จะบินหนีไป.....


ท่านเป็นเสือหรือเหยี่ยว เอ.....หรือเป็นกระต่าย เป็นหมาจิ้งจอก


[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๒๑ ต.ค. ๒๕๔๕,๑๖:๐๖:๒๑]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 04 สิงหาคม 2549 09:07]

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2545

ความดีความชอบ



ช่วงฤดูกาลพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการ หรือที่เรียกว่า การพิจารณาความดีความชอบ

อย่าแปลกใจที่มีใครบางคนได้ ๐.๕ ขั้น บางคนได้ ๑ ขั้น และบางคนได้ถึง ๑.๕ ขั้น

เพราะนี่เป็นการพิจารณา ความดีความชอบ


บางคนได้เพราะความดี บางคนได้เพราะความชอบ

คนที่มีความดี อาจไม่มีความชอบ

และ คนที่มีความชอบ ก็ไม่จำเป็นต้องมีความดี

เขียนอย่างนี้เสี่ยงเหลือเกิน เสี่ยงกับการถูกกล่าวหาว่า อุณหภูมิสูงที่ตา

[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๑๗ ต.ค. ๒๕๔๕,๐๘:๓๑:๕๐]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 04 สิงหาคม 2549 09:04]

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545

ผลประโยชน์


การกระทำทุกอย่างย่อมมี ผลประโยชน์


ใครที่บอกว่าตนเองไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลยนั้น เป็นการไม่ยอมรับความจริง(โกหก)

บวชพระยังเพื่อบรรลุนิพพาน ซึ่งก็คือผลประโยชน์


ที่ร้ายคือ พระที่อ้างว่าจะเพียงเพื่อบรรลุนิพพาน แต่แฝงผลประโยชน์อื่นๆไว้เต็มฝ่าเท้า

[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๓ ต.ค. ๒๕๔๕,๐๙:๐๗:๒๔]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 04 สิงหาคม 2549 08:28]

วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2545

การเรียนรู้


อาจารย์ นายแพทย์สิระ บุณยรัตเวช เคยสอนไว้ว่า คนเราต้องมีความรู้ ทั้ง รู้ลึก และ รู้กว้าง

รู้ลึก คือ การรู้ในงานที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ อย่างเชี่ยวชาญ บางคนรู้แต่ลึก แต่ไม่รู้สังคมภายนอกอะไรเสียเลย

รู้กว้าง คือ การรอบรู้ หรือรู้เรื่องอื่นๆที่ไม่ใช่งานที่ตนต้องรับผิดชอบ บางคนรู้ไปหมดทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องในงานที่ตนรับผิดชอบ
ผู้เขียนขออนุญาตเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนี้ คงต้องเพิ่ม รู้ยาว คือ การรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต หรือ การมีวิสัยทัศน์ นั่นเอง

และ รู้เวลา คือรู้สถาการณ์ รู้ว่าเวลาใดควรทำหรือไม่ควรทำ รู้เวลาที่เหมาะสม

รู้ลึก รู้กว้าง รู้ยาว รู้เวลา ทั้งหมดนี้ เรียนรู้ได้ครับ



[โพสต์ครั้ง ๒ ต.ค. ๒๕๔๕,๐๘:๓๘:๓๔]
แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ ๒ ก.พ. ๒๕๖๑ / ๑๒ ก.พ. ๒๕๖๒

[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 03 สิงหาคม 2549 15:03]

คบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมือง


คบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมืองเป็นคำสำนวนคำพังเพยโบราณครับ หมายความว่า ทำอะไรร่วมกับเด็ก หรือคนหัวล้านมักไม่เป็นผล

เพราะเด็กชอบเล่น คิดอะไรไม่รอบคอบ คิดเป็นเหมือนเล่นขายของ เอาง่ายเอามันส์เข้าว่า

ส่วนคนหัวล้านก็ใจน้อย จะทำอะไรก็มัวแต่กังวลว่าจะกระทบศีรษะตนเอง

ทำงานใหญ่ต้องระวังว่า คนที่เรากำลังทำงานด้วยนั้น เป็นเด็ก หรือ หัวล้าน หรือไม่

ความเป็นเด็ก หรือหัวล้าน นี่ไม่ได้ดูที่อายุ หรือรูปร่างหน้าตา

ต้องดูที่วุฒิภาวะ ครับ

[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๒ ต.ค. ๒๕๔๕,๐๘:๓๓:๒๕]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 03 สิงหาคม 2549 15:00]

วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2545

เพลงลูกทุ่ง


เพลงลูกทุ่ง มักมีเนื้อหาที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคน

เราสามารถบอกช่วงกำเนิดของเพลงลูกทุ่งเพลงนั้นๆได้เสมอ จากเนื้อร้องที่บ่งบอกถึงตามแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ต่างจาก เพลงลูกกรุง ที่ มุ่งเน้นถึงความละเมียดละมัย ความซาบซึ้งถึงบทกวี แห่งความรัก ห่วงหา อนาทร และความฝันที่ไม่อาจเป็นจริง

ทำงานกับชุมชน ต้องคิดแบบ ลูกทุ่ง ครับ

[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๑ ต.ค. ๒๕๔๕,๑๒:๔๕:๐๖]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 02 สิงหาคม 2549 16:48]

ป่าใหญ่


แนวคิดนี้ได้มาจากสามก๊ก ฉบับคนขายชาติ โดยเรืองวิทยาคม หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ครับ

ป่าใหญ่ ต้องไม่ประกอบไปด้วย ไม้ใหญ่ เพียงต้นเดียว
แต่ต้องประกอบไปด้วย ไม้ขนาดใหญ่ ไม้ขนาดกลาง ไม้ขนาดเล็ก ไม้ระดับพื้นดิน และไม้ใต้ดิน(ที่มีหัวอยู่ในดิน)
จึงจะเป็นป่าใหญ่โดยสมบูรณ์

บางหน่วยงานคิดจะใช้แต่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ระวัง จะเป็นได้เพียง ป่าหญ้า เท่านั้นเอง

[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๑ ต.ค. ๒๕๔๕,๑๒:๓๗:๔๑]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 02 สิงหาคม 2549 16:47]

เครื่องมือ


เครื่องมือ มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ว่า สิ่งของสำหรับใช้ในการงาน
โดยปริยายหมายถึง คนหรือสิ่งที่ใช้ทำประโยชน์อย่างเครื่องมือ
เครื่องมือมิได้มีคุณค่ามากพอที่จะระลึกถึง
เป็นก็เพียงแค่เพื่อผลประโยชน์ของผู้ใช้ เท่านั้น

อย่าทำตนเป็นเครื่องมือของใคร

[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๑ ต.ค. ๒๕๔๕,๑๒:๓๓:๔๑ ]

[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 31 กรกฎาคม 2549 17:14 ]

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2545

การใช้คน


แนวคิดนี้ได้มาจากสามก๊ก ฉบับคนขายชาติ โดยเรืองวิทยาคม หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ครับ


การเลือกใช้คน เป็นสิ่งที่สำคัญ หากมีคนดีอยู่แล้วไม่ใช้ หรือเลือกใช้คนที่ไม่เหมาะสม เปรียบเหมือน มีกระบี่วิเศษอยู่ แต่ไปตกอยู่ในมือพ่อครัว ถูกใช้หั่นผักหั่นเนื้อ กระบี่เล่มนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด

แต่ก็ไม่แย่เท่ากับ แม่ทัพเอามีดทำครัวออกศึก
จริงไหมครับ

[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๒๕ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๓:๒๒:๒๔]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 31 กรกฎาคม 2549 17:12]

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง stakeholder


กระบวนการระดมความคิด และ กระบวนการอื่นใดที่ต้องการความคิดเห็นร่วม เช่น กระบวนการประชาคม จำเป็นต้องเกิดจาก ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง(stakeholder) จึงจะทำให้ได้ความคิดในทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทุกวันนี้อยู่ที่ คนที่คิดว่า ตนเอง เป็น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholder) ทั้งๆที่...ไม่ใช่สักหน่อย...

[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๒๕ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๐:๑๑:๕๔]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 30 กรกฎาคม 2549 15:49]

การทำงานเป็นทีม


อาจารย์ นายแพทย์สุจริต ศรีประพันธ์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยสอนว่า

ลักษณะของทีมงาน มีอยู่ ๓ รูปแบบ คือ

๑. Football Team ลักษณะแบบทีมฟุตบอลนี้ ผู้ร่วมทีมสามารถช่วยกันได้หมด เมื่อขาดคนใดคนหนึ่งก็สามารถทดแทนกันได้ สามารถเปลี่ยนบทบาทกันได้

๒. Baseball Team ลักษณะแบบทีมเบสบอล จะเป็มทีมที่มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ร่วมทีมที่ชัดเจน ไม่สามารถแทนกันได้

๓. Double Tennis Team ลักษณะแบบทีมเทนนิส หรือกีฬาอื่นใดก็ตามประเภททีมคู่ จะเป็นทีมที่ผู้ร่วมทีมต้องเสริมกัน ช่วยกัน ขาดซึ่งกันและกันไม่ได้

ทราบแล้วก็เลือกรูปแบบใช้เองนะครับ

[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๒๕ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๐:๐๔:๐๔]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 30 กรกฎาคม 2549 15:47]

วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2545

ผู้นำ


แนวคิดนี้ได้มาจากสามก๊ก ฉบับคนขายชาติ โดยเรืองวิทยาคม หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ครับ

ผู้นำ มีภารกิจ ๒ ประการ คือ

๑. เป็นแกนนำในความสามัคคี(เพื่อให้ผู้ตามได้ร่วมมือร่วมใจสู่เป้าหมาย)
๒. ชี้ทิศนำทาง(ให้เห็นเป้าหมายที่ชัดเจน)

หากผู้นำคนใดไม่สนใจกุมภารกิจทั้ง ๒ ประการนี้ มัวแต่สาละวนอยู่แต่เรื่องเล็ก จู้จี้จุกจิก ไม่เป็นสาระ ย่อมประสบความล้มเหลว และจักต้องสูญเสียฐานะผู้นำอย่างไม่ต้องสงสัย

แล้วคุณคุณเป็นผู้นำรึเปล่าครับ เป้าหมายก็ไม่ชี้ แถมยังชวนแตกก๊กแตกเหล่ามากมาย สงสัยจังเลย


[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๒๔ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๑:๐๗:๐๘]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 28 กรกฎาคม 2549 12:59]

การตรงต่อเวลา


การตรงต่อเวลา ไม่ได้หมายความเพียงคำว่า ไม่สาย เท่านั้น

หากแต่หมายถึง การเตรียมพร้อมเพื่อให้การนัดหมายนั้นๆสามารถเดินไปได้ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งก็คือ การไปก่อนเวลา นั่นเอง

อาจารย์ นายแพทย์สุจริต ศรีประพันธ์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยสอนว่า
การไปร่วมงาน ต้องไปก่อนเวลา
และการไปก่อนเวลานั้น ต้องให้เหมาะสม คือ
ไม่ไปกระชั้นชิด จะทำให้ผู้จัดงาน กระวนกระวาย ไม่แน่ใจว่าจะเปิดงานได้ตามเวลาหรือไม่
แต่ก็ไม่ควร ไปก่อนเวลามาก เพราะจะทำให้ผู้จัดงานลำบากใจ อึดอัด ไม่รู้จะเอาไปไว้ตรงไหน เพราะงานอาจจะยังเตรียมการณ์ไม่เรียบร้อย

การตรงต่อเวลา เป็นพฤติกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้นะครับ

[โพสต์ครั้งแรก เมื่อ ๒๔ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๑:๐๙:๒๘]
[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 28 กรกฎาคม 2549 13:00]

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2545

ความตะหนัก(Concern)


เรามักบอกว่าประชาชน ไม่ตระหนัก ในการดูแลสุขภาพตนเอง(หรือเรื่องอื่นๆ)

มีใครรู้บ้างว่า แท้จริงแล้ว เป็นหน้าที่เราที่มีหน้าที่ทำให้ประชาชนมีความตะหนัก

เรายังทำไม่ได้ดีพอหรือเปล่า

หรือว่า เรากระมังที่ยังไม่ตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตัวเราเอง

[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๑๙ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๓:๓๐:๐๐]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 28 กรกฎาคม 2549 12:53]

วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2545

ลูกตุ้มนาฬิกา


ถ้าเราเปรียบความดีกับความเลวเป็นเหมือนการแกว่งของ ลูกตุ้มนาฬิกา

ความดีกับความเลวก็อยู่กันคนละสุดด้าน

วันนี้เราเจอความเลว ก็เป็นเพียงจังหวะแกว่งของลูกตุ้มนาฬิกา
เมื่อมันแกว่งไปถึงจุดที่เลวที่สุดแล้ว มันก็ต้องแกว่งคืนกลับมาทางความดี

ปัญหามีเพียงว่า วันนี้มันสุดด้านเลวหรือยัง

มันยังจะเลวไปกว่านี้อีกหรือ โอ้โฮ

[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๑๘ ก.ย. ๒๕๔๕,๐๙:๓๑:๒๓ ]

[โพสต์ครั้งที่สอง ที่ My Idea Gotoknow 28 กรกฎาคม 2549 10:21 ]

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2545

ห้าสุดยอดวิชาขันที


วิชานี้ได้มาจากสามก๊ก ฉบับคนขายชาติ โดยเรืองวิทยาคม หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ครับ

ห้าวิชาสุดยอดนี้ เป็นกระบวนวิชาที่ทำให้ขันทีสามารถดำรงอำนาจ ถึงขั้นครอบงำฮ่องเต้ อยู่ในราชสำนักได้อย่างยาวนาน คือ

๑. วิชาว่าด้วยการพินอบพิเทาสร้างความพอใจสูงสุด(ก็เลียแข้งเลียขา ประเภทลิ้นกระดาษทราย น้ำลายแล็คเกอร์ นั่นแหละครับ)
๒. วิชาว่าด้วยการสร้างความแตกแยก เพื่อแสวงผลประโยชน์ให้ตนเอง
๓. วิชาว่าด้วยการฆ่าคน โดยการใช้วาจาเป็นอาวุธสังหาร
๔. วิชาว่าด้วยการเรียกรับสินบน เพื่อผลประโยชน์ และ
๕. วิชาว่าด้วยการให้สินบนซื้อน้ำใจคน


คุณๆ จบไปกี่กระบวนท่าแล้วละครับ


[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๑๗ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๓:๐๖:๐๐]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 26 กรกฎาคม 2549 17:02]

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2545

ข้อคิดจากปลวก


ที่บ้านผมมีปลวกขึ้นครับ ซึ่งคงไม่แปลก บ้านใครๆก็มีปลวกขึ้นได้

แต่ที่บ้านผม ปลวกขึ้นสายไฟครับ มันกินสายไฟจนถึงลวดทองแดง
กว่าจะหาสาเหตุได้ ก็เกือบต้องให้กองพิสูจน์หลักฐานมา สันนิษฐาน ว่า เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ซะแล้ว
เพราะก็เกิดไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นจริงๆ จากปลวกกินสายไฟนี่แหละ
ปลวก ยังไม่ยอมอดตายเลยครับ มันพัฒนาไปจนคาดไม่ถึง แล้วเราเป็นคนเป็นมนุษย์ จะยอมอะไรง่ายๆเชียวหรือครับ
อายปลวกมัน
[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๑๖ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๑:๓๙:๓๘]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 26 กรกฎาคม 2549 16:56]

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2545

การบริหารกับคอมพิวเตอร์


ผมดีใจที่เป็นคนทันยุคครับ ยุคนี้เป็นยุคที่โลกอยู่ในกระแส IT
ยุคที่ประเทศไทยกำลังจะมี กระทรวง ICT (Information and Communication Technology Ministry)

ผมว่า การบริหารก็เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ แหละครับ (ไม่ใช่ว่าเหมือนที่ ไม่มีความคิดอะไร แบบ Garbage in Garbage out นะครับ)

การบริหารเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ตรงที่ ทำๆไปมันก็รวนออกบ่อย

ไม่ว่าผู้บริหารจะเก่งแค่ไหน ไม่ว่าคอมพิวเตอร์จะรุ่นยอดเยี่ยมแค่ไหน
บางทีก็ประมวลผลออกมาสับสน ผิดพลาด มากบ้างน้อยบ้าง บางครั้งดูตลกด้วยซ้ำไป ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ตามมามากมาย
ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยอื่นเข้ามากระทบแยะ ทั้งลงโปรแกรมผิด ทั้งกรอกข้อมูลผิด บางทีก็เป็นพวกตัวป่วน เหมือนพวกไวรัสไงครับ

วิธีแก้ก็ง่ายๆ

Reset บ้างเถอะครับ ไม่ต้องรอจนเครื่อง Hang หรอกน่า

[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๑๓ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๒:๕๙:๑๐]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 24 กรกฎาคม 2549 11:05]

กำลังใจ


แม้ว่าจะมีความสับสน ไม่มั่นใจ ผิดหวัง แต่ไม่ควรจะหมดกำลังใจ

หากยังมีกำลังใจ ก็จะมีพลังในการสร้างความหวัง เกิดความมั่นใจ และ หายสับสน

กำลังใจ ต้องสร้างที่ตัวเราเองก่อน

อ้อ ! เมื่อตัวเรามีกำลังใจแล้ว อย่าลืมช่วยคนอื่นสร้างกำลังใจด้วยล่ะ

...ขุนเขาไม่อาจขวาง
สายทางเที่ยงธรรมได้
ความหวังยังพริ้มพราย
เก่าตายมีใหม่เสริม
ชีวิตที่ผ่านพบ
มีลบย่อมมีเพิ่ม
ขอเพียงให้เหมือนเดิม
กำลังใจ...






[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๑๓ ก.ย. ๒๕๔๕,๐๙:๓๙:๒๙]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 24 กรกฎาคม 2549 11:03]

วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2545

ประชาคมเจ้าเล่ห์


ผู้เขียนเองนั้น นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีแนวความคิดเป็นแบบ เผด็จการ (Dictator) เต็มตัว ยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อกระแสแนวทางการทำงานแบบประชาธิปไตยรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการประชาธิปไตยแบบที่เรียกว่า ประชาคม หรือ ประชาสังคม แพร่หลายมากขึ้น ผู้เขียนก็บังเกิดวิตกจริตมากขึ้น ว่าจะทำอย่างไรจึงจะดำรงความคิดแบบเผด็จการของตนไว้ให้ได้ โดยให้สอดคล้องกับในทางปฏิบัติตามกระแสสังคมปัจจุบัน

ประชาคม มีความหมายตามพจนานุกรมว่า ชุมชน , กลุ่มชนซึ่งอยู่รวมกันและมีการติดต่อสัมพันธ์กัน แต่ประชาคม หรือประชาสังคมที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในขณะนี้ แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Civil Society มีความหมายที่ผู้รู้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันมากมาย สรุปเป็นที่เข้าใจกันได้ว่า เป็นกระบวนการ คิดแก้ไขปัญหาหรือจัดการปัญหาร่วมกันของสังคมหรือชุมชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (steak holder) โดยมีวัตถุประสงค์ อุดมคติ และความเชื่อร่วมกัน

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ผู้เขียนก็ยิ่งทำใจลำบาก เพราะถ้าใช้กระบวนการประชาคมในงานบริหารทุกๆงานแล้ว ผู้เขียน ในฐานะ ผู้บริหาร ก็คงจะไม่รู้จะวางตัวอย่างไร จำเป็นต้องใช้ ทฤษฎีภาวะผู้นำแบบใช้เล่ห์เหลี่ยม (Machiavellian Leadership) เข้ามาช่วย ซึ่งหลักการของทฤษฎีนี้จะสนับสนุน การใช้เล่ห์เหลี่ยม (Craft)  การตีสองหน้า (Duplicity) และ ความฉลาด แกมโกง(Cunning) เป็นหลักในการปกครองเพื่อเพิ่มอำนาจบารมีและความสำเร็จ และเพื่อเน้นประโยชน์เพื่อให้งานสำเร็จเป็นที่ตั้ง จึงไม่ต้องใส่ใจกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คนก็เป็นเสมือนสิ่งของ ไม่ต้องสนใจพันธะสัญญาที่ควรจะเป็น

ในกระบวนการประชาคมแบบใช้เล่ห์เหลี่ยม จึงควรเป็นเช่นนี้ กระมังครับ

๑. จัดการจัดประชุมประชาคม( ภาษาประชาคมต้องเรียกว่า เวทีประชาคม ) ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้เขียน โดยการจัดองค์ประชุมให้สับสน ประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย หลายระดับ ยิ่งมีความสัมพันธ์ในแนวดิ่งยิ่งดี (แต่ให้ดูเหมือนเป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้อง คือกลุ่มคนผู้ร่วมเวทีประชาคมอันเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ควรมาจากผู้ที่มีความสัมพันธ์กันในแนวราบ และมีส่วนร่วมในเรื่องที่จะพูดคุยกัน) และ ต้องพยายาม อย่าให้ ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะแสดงความคิดเห็นตรงข้ามได้เข้าร่วมประชุมด้วย

๒. ใช้จุดอ่อนของประชาคมให้เป็นประโยชน์ จุดอ่อนของประชาคมคืออะไร จุดอ่อนของประชาคมก็คือจุดที่กระบวนการประชาคม คิดว่าแข็งที่สุดนั่นเอง ก็คือกระบวนการคิดของผู้มีส่วนร่วม แต่ ผู้มีส่วนร่วมในสังคมไทยเรา มักไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น ทั้งจาก ความไม่กล้าแสดงออก ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยเฉพาะของคนไทย และ ความไม่รู้  ความขี้เกรงใจ ไม่ชอบโต้แย้ง โต้เถียงด้วยเหตุผล โดยเฉพาะ การเกรงใจต่อผู้อาวุโส (ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ หรือ ธนวุฒิ) หรือผู้บังคับบัญชา

๓. ชี้นำประชาคม โดยต้องพยายามเข้าไปมีบทบาทในการนำประชาคมให้ได้ เช่นเป็นผู้นำในการประชุม (moderator) เมื่อนำได้  ก็จะสามารถชี้นำให้ประชาคมถกกันได้ในประเด็นที่เราต้องการ แต่ทำให้ดูเหมือน ประชาคมผู้มีส่วนร่วมนั้น มีอำนาจในการคิด การตัดสินใจ โดยใช้ทั้งวิธีการ คุกคาม ข่มขู่ ทุกรูปแบบ แต่นิ่มนวล เชือดเฉือนด้วยคำพูด ให้คิดตามเราให้ได้ ตัดบท เมื่อมีแนวโน้มว่าจะออกนอกทางที่เรากำหนด

๔. ชิงสรุป อาศัยช่วงเวลาที่ประชาคมกำลังสับสน ชิงสรุปในประเด็นที่เราต้องการ ส่วนใหญ่ขี้เกรงใจ ไม่ค่อยมีใครทักท้วง

๕. จัดประชุมประชาคม ในเรื่องเดียวกัน ในหลายๆกลุ่ม อย่าให้คนเดิมได้มีโอกาสเข้าร่วมบ่อยนัก เพื่อจะได้เติมประเด็นได้ในการสรุปในภายหลัง ก่อนที่จะเผยแพร่  ส่วนใหญ่ไม่ได้จดได้จำว่า เคยคุยกันไว้อย่างไร ถึงแม้จำได้ ก็สามารถอ้างได้ว่าเป็นบทสรุปจากการทำเวทีประชาคมครั้งที่ผู้ท้วงไม่ได้เข้าร่วม

ครับ ประชาคม แบบ Devil Society ที่ผู้เขียนวางแผนไว้นี้ ก็น่าสำเร็จได้ไม่น้อย ท่านรู้แล้วเฉยไว้นะครับ อย่าไปบอกใคร  อย่าแสดงตนให้รู้นะว่ารู้ทัน โกรธจริงๆด้วย

[พิมพ์ครั้งแรก ว.๘ เมื่อ ๑๒-๐๙-๒๕๔๕]

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2545

นักวางแผนที่ดี


นักวางแผนที่ดี จะต้องมีจิตใจเป็น นักวิชาการ

นักวิชาการที่ดี จะต้องมีความรู้ ๔ มิติ คือ

๑. รู้ลึก คือ รู้ลึกในเรื่องที่กำลังทำอยู่
๒. รู้กว้าง คือ รู้ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง
๓. รู้ยาว คือ รู้ว่าจะมีปัจจัยอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องอีกในอนาคต

๔. รู้เวลา คือ รู้ว่าเวลาใดควรทำอะไร
และที่สำคัญ ต้องมีจิตใจเป็น นักการบริหาร(ยีนเด่น) คือต้องวางแผนให้แผนนั้นสามารถทำได้ และเกิดประโยชน์

หากทำเช่นนี้ได้ แผนที่วางไว้ จะได้รับการนำไปปฏิบัติจนประสพผลสำเร็จ


[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๙ ก.ย. ๒๕๔๕,๑๑:๔๔:๒๖]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 24 กรกฎาคม 2549 11:01]
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/40548
แก้ไขเมื่อ ๑ ก.พ. ๒๕๖๑

นักบริหาร DOMINANT VS นักบริหาร RECESSIVE


ถ้าเรากำหนดให้มียีน(gene) กำกับความเป็นนักบริหาร ก็จะมียีนอยู่สองประเภท คือ ยีนนักบริหารเด่น(Dominant) และ ยีนนักบริหารด้อย(Recessive)
มีความแตกต่างระหว่างยีนเด่นและยีนด้อย ดังนี้ครับ

๑. นักบริหารเด่น ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก นักบริหารด้อย ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่
๒. นักบริหารเด่น ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย นักบริหารด้อย ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก
๓. นักบริหารเด่น ชอบรับฟังความเห็นของคนหลายคนมาประยุกต์ใช้ นักบริหารด้อย ชอบยึดความคิดเห็นของตนเป็นหลัก
๔. นักบริหารเด่น ชอบทำงานเป็นทีม นักบริหารด้อย ชอบทำงานคนเดียว
๕. นักบริหารเด่น ไว้ใจผู้อื่น มักมอบหมายภารกิจให้ผู้อื่นทำแทน นักบริหารด้อย ไม่ไว้ใจใคร มักทำงานด้วยตนเอง
๖. นักบริหารเด่น มองเห็นความสำคัญของผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่ามีความสำคัญในงาน นักบริหารด้อย ชอบทำให้ผู้อื่นเห็นความสำคัญของตน จะขาดเสียมิได้ ฯลฯ


แล้วท่านละ มียีนแบบไหน Dominant หรือ Recessive
(อันนี้ไม่ใช่นิทานครับ แต่ก็ผ่านการดัดแปลงมานิดหน่อย)

[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๙ ก.ย. ๒๕๔๕,๐๘:๕๘:๐๖]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 23 กรกฎาคม 2549 18:24 ]


นี่ก็นิทานครับ


อาจารย์ชุมนุม พรหมขัติแก้ว คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าให้ฟังว่า

เมื่อสมัย ฯพณฯ บุญสม มาร์ติน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นั้น ท่านชอบเล่านิทานให้ที่ประชุมฟังอยู่บ่อยๆ โดยที่ท่านเป็นคนที่ไม่ชอบการทำงานที่อะไรๆก็ต้องตั้งคณะกรรมการ ครั้งหนึ่งท่านเล่าว่า
มีอยู่วันหนึ่งเจ้าอูฐ ได้เข้าไปร้องเรียนกับพระเจ้าว่า พระเจ้านั้นไม่เป็นธรรม ที่ได้สร้างสัตว์อื่นๆออกมาได้รูปร่างสวยสดงดงาม สมส่วน แต่มำไมสร้างอูฐออกมาได้อัปลักษณ์ยิ่งนัก
พระเจ้ามองเจ้าอูฐด้วยความพินิจพิจารณา และก็ค่อนข้างเห็นด้วย จึงถามวันเดือนปีเกิดของอูฐ แล้วก็พลิกแฟ้มข้อมูลดู สักครู่ก็ได้คำตอบ พระเจ้าจึงบอกเจ้าอูฐด้วยความเวทนาว่า

เอ้อ วันนั้นนะ ข้าไม่อยู่ ติดราชการอื่น จึงวานให้ คณะกรรมการเขาช่วยกันออกแบบ

เรื่องมันก็เป็นเช่นนั้นแหละเจ้าอูฐเอ๋ย

(แต่พระเจ้าก็ไม่ได้บอกนะว่า คณะกรรมการพวกนั้น เป็น นักวิชาการ ด้วยรึเปล่า)



[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๙ ก.ย. ๒๕๔๕,๐๘:๓๘:๔๕]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 23 กรกฎาคม 2549 18:22]

วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2545

ผมมีนิทานจะเล่าให้ฟังครับ


มีราชสีห์ตัวหนึ่ง ปกครองหมู่บรรดาสัตว์ป่ามาด้วยความสุขพอสมควร

ต่อมามีกลุ่มสุนัขจิ้งจอกกลุ่มหนึ่ง พยายามจะครอบงำราชสีห์ตัวนั้น ราชสีห์คิดว่าตนจะควบคุมฝูงจิ้งจอกได้และจะได้อาศัยจิ้งจอกฝูงนี้เป็นมือเป็นเท้าในการหาอาหาร และอามิสทั้งหลาย จึงสังหารราชสีห์รองๆเสียหลายตัว ลอกเอาหนังไปคลุมสุนัขจิ้งจอกให้ดูเหมือนพวกเดียวกัน
แต่อนิจจา จิ้งจอกย่อมเป็นสุนัขเหมือนสุนัขทั่วไป แม้มันพยายามจะคำรามเพียงใด เสียงที่ออกมาก็เหมือนเสียงเห่าหอน

กว่าราชสีห์จะรู้ตัว เสียงคำรามของ ฯพณฯราชสีห์ก็เหมือนฝูงจิ้งจอกไปเสียแล้ว

เอ้อ มันเป็นนิทานนะครับ

[โพสต์ครั้งแรกเมื่อ ๖ ก.ย. ๒๕๔๕,๐๘:๕๒:๔๓]
[โพสต์ครั้งที่สองที่ My Idea Gotoknow 23 กรกฎาคม 2549 18:18 ]
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/40450

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2545

โรค มือ เท้า ปาก

ได้ยินข่าว เรื่อง โรค มือ เท้า ปาก (Hand, Foot, and Mouth Disease) กันแล้ว หลายท่านโดยเฉพาะท่านที่มีบุตรหลานเล็กๆ ก็เกิดความตระหนก ตกใจ กันมาก บางท่านสงสัยว่ามันเกี่ยวอะไรกับโรค ปากและเท้าเปื่อย (Foot and Mouth disease) ในวัวในควาย หรือสัตว์เท้ากีบหรือไม่ แค่ชื่อเหมือนครับ เป็นคนละโรคกันครับ ส่วนโรค มือ เท้า ปากนั้น แม้ความจริงไม่มีอะไรน่ากลัว แต่ก็รู้วิธีการป้องกันไว้ดีกว่ากระมัง

ในโลกกว้างของเราใบนี้ มีอะไรมากมายที่เราไม่สามารถเข้าใจได้  อะไรก็ตามที่บอกว่า  เป็นเรื่องของ ธรรมชาติ นั่นก็แปลความหมายได้ว่า อธิบายไม่ได้ นั่นเอง

โรค มือ เท้า ปาก ก็เช่นกัน ทำไมมันต้องมามีอาการเป็นเฉพาะที่ มือ เท้า ปาก เท่านั้น ก็คงจะอธิบายท่านผู้อ่านไม่ได้ บอกได้แค่เพียงว่า มันเป็นธรรมชาติของโรค อย่าสงสัยอะไรมากเลยครับ

โรค มือ เท้า ปาก เป็นกลุ่มอาการของโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสหลายตัว(ไวรัสอีกแล้ว)  ที่พบเป็นสาเหตุบ่อยๆ ได้แก่  เอนเทอโรไวรัส ๗๑ (Enterovirus 71) และ  ค็อกแซคกีไวรัส เอ ๑๖ (Coxsackievirus A16) เป็นต้น

การติดต่อของโรค เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัส คลุกคลีกับผู้ป่วย น้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย  หลังจากนั้น ประมาณ ๓-๖ วัน ก็จะเริ่มมีอาการ (เรียกระยะนี้ว่า ระยะฟักตัวของโรค)
กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค มือ เท้า ปาก หรือครับ ก็เป็นเด็กนั่นแหละ  เด็กที่อายุต่ำกว่า ๑๐ ปี (คนโตก็เป็นได้ ถ้าภูมิต้านทานไม่ดี) ส่วนฤดูกาลที่มีการระบาดนั้นไม่ชัดเจน มักพบในช่วงอากาศเย็น โดยเฉพาะในฤดูฝน และฤดูหนาว อ้อ โรคนี้ ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน นะครับ
อาการและอาการแสดง เริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ  เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมาอีก ๒-๓ วันมีอาการเจ็บปาก มีจุดหรือ ผื่นแดง ที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ต่อมามีผื่นแดง ตุ่มพอง(ไม่คัน) และมีแผลที่ ปาก มือ นิ้วมือ(มักอยู่ด้านข้างนิ้ว) ฝ่าเท้า(มักอยู่ที่ส้นเท้า) และอาจพบที่ก้นด้วย ผื่นนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส รอบๆแดง และแตกออกเป็นแผลตื้นๆ  จึงเรียกว่า โรคมือ เท้า ปาก ( ความจริงน่าจะเรียกได้ว่าโรค มือ ก้น ส้นตีน ปาก )

โดยทั่วไปโรค มือ เท้า ปาก จะมีอาการไม่รุนแรง และแทบไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตเลย

การรักษา ง่ายครับ เพราะ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และหายเองได้ ป่วยนาน ๗-๑๐ วัน ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ปวด ไม่มียาเฉพาะ เป็นแล้วเป็นอีกได้ จากเชื้อไวรัสตัวอื่น กรณีเป็นรุนแรง เช่นที่พบในสิงคโปร์  อาจมีอาการรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาการแทรกซ้อนที่ปอด และเยื่อหุ้มสมอง หรือสมองอักเสบได้
การป้องกัน ก็ง่ายครับ แต่ทำไม่ค่อยได้ นั่นคือ การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การล้างมือให้สะอาด หลังการขับถ่าย และก่อนรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำ หลอดดูด ร่วมกัน โดยเฉพาะในเด็กนักเรียน คุณพ่อคุณแม่ อย่าวางใจให้คุณครูดูแลคนเดียวนะครับ 

สำหรับโรค ที่เกิดอาการบาดเจ็บที่ปาก อันเนื่องมาจาก มือ และเท้า ไม่นับรวมอยู่ในกลุ่มอาการ โรค มือ เท้า ปาก และป้องกันไม่ได้ ด้วยวิธีที่ผู้เขียนแนะนำนะ  จะบอกให้


[พิมพ์ครั้งแรก ใบปลิว เมื่อ ๐๒-๐๗-๒๕๔๕]


วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2545

ศูนย์สุขภาพชุมชน ความหายนะ ๔ ประการ ?



ศูนย์สุขภาพชุมชน หรือ ที่หลายท่านรู้จักในนามว่า หน่วยบริการปฐมภูมิ หรือ  PCU (Primary Care Unit) นั้น ยังเป็นที่สับสน ของคนอีกจำนวนไม่น้อย ทั้ง ผู้บริหารหลายระดับในหน่วยงานสาธารณสุข ตลอดไปจนถึงผู้ปฏิบัติ ดังนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ประชาชน ชาวบ้านธรรมดา จะเข้าใจได้อย่างไร

มีผู้บริหารท่านหนึ่งกล่าวว่า ศูนย์สุขภาพชุมชน ทำให้เกิดความหายนะ ประการ (ความจริงท่านผู้นั้นใช้ถ้อยคำรุนแรงกว่านี้ แต่ผู้เขียนเห็นว่าแรงเกินไป จึงขอดัดแปลงมาถ่ายทอด เพื่อเป็นข้อวิพากษ์) คือ  ศูนย์สุขภาพชุมชน ทำให้ ๑. สถานีอนามัยต้องล่มสลายไป  ๒. เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยสูญเสียบทบาทอย่างสิ้นเชิง  ๓. โรงพยาบาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไปต้องล่มสลาย  และ . แพทย์เฉพาะทางต้องสูญเสียบทบาทอย่างรุนแรง

นิสิตแพทย์ท่านหนึ่งได้กล่าวว่า ศูนย์สุขภาพชุมชน ไม่มีอะไรแตกต่างกับ สถานีอนามัย เพียงแต่มี แพทย์ไปให้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งแพทย์ก็ไม่พอเพียงอยู่แล้ว ศูนย์สุขภาพชุมชนจึงไม่น่าจะมีประโยชน์อันใดชัดเจน

จริงหรือ ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเลวร้ายขนาดนั้น

หรือเป็นเพราะการไม่เข้าใจใน แนวคิด (Concept) ของศูนย์สุขภาพชุมชน เราจึงไปสับสนปนเปกับ โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โครงการแพทย์หมุนเวียน และ โครงการส่วนขยายห้องตรวจผู้ป่วยนอก (Extended OPD)

ท่านผู้อ่านครับ ความสำคัญของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่ที่ การมีสุขภาพดี มากกว่าการเจ็บป่วย

กระบวนการทำให้สุขภาพของประชาชนมีสุขภาพดี แต่เดิมเราใช้ หลายกระบวนการเข้ามามีส่วนร่วม โดยเน้น การดูแลสุขภาพส่วนบุคคล และการดูแลสุขภาพทั้งชุมชน สิ่งที่ยังขาดไปก็คือ ครอบครัว ซึ่งเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อการเจ็บไข้ได้ป่วยของบุคคลในครอบครัว ทั้งผลจากด้าน พันธุกรรม พฤติกรรม  และ สภาพแวดล้อม กระบวนการเวชศาสตร์ครอบครัวจึงเข้ามามีบทบาทตรงนี้ครับ

หากศูนย์สุขภาพชุมชน มิได้ใช้กระบวนการ เวชศาสตร์ครอบครัว ในการดำเนินการ ศูนย์สุขภาพชุมชนก็คงไม่ต่างอะไรกับ สถานีอนามัย ดังที่นิสิตแพทย์ท่านนั้นกล่าว  และก็คงไม่สามารถตอบคำกล่าวหาถึงความหายนะ ๔ ประการที่มีผู้กล่าวหาไว้ แต่ก็คงไม่สามารถตอบง่ายๆเพียงคำว่า เวชศาสตร์ครอบครัว เพียงคำเดียว

หาก ศูนย์สุขภาพชุมชน ที่ดำเนินการกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่จัดตั้งกันจนเกินงาม ทำทุกอย่างตามกระบวนการอย่างรอบคอบระมัดระวัง ไม่มุ่งแสดงความสามารถด้านปริมาณอย่างแข่งขันกัน เราก็จะสามารถจัดทีมแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร และอื่นๆ ที่จะใส่ลงไปใหม่ ให้รวมเป็นเนื้อเดียวกับ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเดิม ให้เป็นทีมเดียวกัน กำหนดภารกิจร่วมกันอย่างชัดเจน แพทย์ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในทีมได้อย่างเหมาะสม บทบาทสถานีอนามัย ก็จะมิใช่ถูกลดลง หากแต่ปรับขยายขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยมิต้องไปคำนึงถึงชื่อว่าจะเป็นอะไร จะเป็นสถานีอนามัย  ศูนย์สุขภาพชุมชน หน่วยบริการปฐมภูมิ หรือ แม้แต่จะหันกลับไปใช้ชื่อ สุขศาลา และ บทบาทของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ก็จะไม่ลดลง หาก เป็นการปรับให้สามารถใช้ศักยภาพของตนอย่างชัดเจน ตรงกับความต้องการของประชาชน เป็นที่พึ่งของประชาชนได้มากขึ้น

เราต้องไม่ลืมว่า ทุกวันที่ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทำงานอย่างไร คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าหน้าที่หนักทุกวันนี้ อยู่กับโรคที่ ประชาชนรักษาตัวเองได้ อยู่กับโรคที่ สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลชุมชนรักษาได้ คนไข้มากกว่าร้อยละ ๘๐ เป็นผู้ป่วยที่ไม่ต้องมาโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป การลงทุนทางโครงสร้างและทรัพยากรอื่นๆมากมาย ไม่สอดคล้องกับภารกิจที่ควรจะเป็น ถ้าเราปรับบทบาทให้ชัดเจน มี ศูนย์สุขภาพชุมชน มาคอยรองรับ เป็นกันชน ระหว่างผู้ป่วย กับแพทย์เฉพาะทาง ก็จะสามารถลดขนาดโรงพยาบาลลง ใช้จ่ายลดลง ใช้เฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็นอย่างแท้จริง ดังนี้แล้ว ศูนย์สุขภาพชุมชน จึงเป็นผู้ชูความโดดเด่นของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และแพทย์เฉพาะทาง ให้เต็มบทบาทต่างหาก

แต่ภาพที่ผู้เขียนกล่าวนั้น คงไม่สามารถปรากฎให้เห็นในชั่วข้ามคืน

ปัญหาต่างๆดังกล่าวเกิดขึ้นจากกระบวนการทางบริหาร ที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน  โดยการศึกษาให้เข้าใจชัดเจนถึงแนวคิดของกระบวนการเวชศาสตร์ครอบครัว และนำไปปฏิบัติอย่างพร้อมเพียงกัน

แล้วเรามาดูผลสรุปกันที่ สุขภาพของประชาชน และความพึงพอใจของประชาชน ดีไหมครับ
[พิมพ์ครั้งแรก ว.๘ เมื่อ ๒๘-๐๖-๒๕๔๕]