วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2541

โรคหน้าหนาว




            หน้านี้เป็น หน้าหนาว อาจจะหนาวบ้าง ไม่หนาวบ้าง แต่เราก็ยังเรียกมันว่าหน้าหนาว และในหน้าหนาวนี้ก็มีโรคประจำฤดูกาลที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นโรคที่ป้องกันได้ แต่มักไม่ค่อยใส่ใจกัน บางท่านมักอ้างว่าตนเองมีภูมิคุ้มกันดี ไม่ป่วยง่ายๆหรอก ตายไปแยะเหมือนกันประเภทนี้  ลองมาดูโรคหน้าหนาวสัก 2-3 โรคนะครับ
            โรคไข้หลี ชื่อโรคนี้บัญญัติโดยศาตราจารย์นายแพทย์เสนอ  อินทรสุขศรี ฟังดูเหมือนเป็นโรคของหนุ่มๆที่ไปหลีสาวๆ พาลนึกไปถึงโรคทางเพศสัมพันธ์ไปโน่น แท้ที่จริงไม่ใช่หรอกครับ เป็นคำผวน ไข้หลี ก็ ขี้ไหล โรคขี้ไหลก็คือโรคท้องร่วง หรือโรคอุจจาระร่วง นั่นเอง  โรคไข้หลีนี้มีหลายประเภท ตั้งแต่ท้องเสียธรรมดาๆ ไปจนถึงอหิวาตกโรค แต่สาเหตุก็เหมือนๆกัน คือ การกินอาหารที่ไม่สะอาด หน้าหนาวนี้น้ำเริ่มน้อย ใกล้เข้าสู่ภาวะ แล้งซ้ำซาก การทำความสะอาดอาหารตลอดจนภาชนะก็ไม่ค่อยดีพอ มือไม้ไม่สะอาด ระวังนะครับ อาจเกิดอาการ ถ่ายอุจจาระซ้ำซาก โปรดระวังเป็นพิเศษในเด็กทารก และผู้สูงอายุ เพราะกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีพลังสำรองในตัว เป็นปุ๊บอาจจะตายปั๊บ และถ้าตายมีตายหนเดียว ไม่มีตายซ้ำซาก

            โรคไข้หวัด โรคนี้เป็นโรคยอดนิยมอันดับ 2 รองจากท้องร่วง มักเป็นมากในช่วงหน้าหนาว เพราะอากาศแห้ง ไอน้ำในบรรยากาศน้อย ร่างกายไม่แข็งแรง ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส เป็นเองหายเองได้ ถ้าไม่เป็นมากขึ้น แล้วลุกลามเป็นอย่างอื่นไปเสียก่อน เช่นลุกลามเป็นปอดบวม ป้องกันง่ายๆเหมือนกัน คือรักษาร่างกายให้แข็งแรง อบอุ่น(คนโสดควรจะมีคู่ซะ จะได้อบอุ่น) ออกกำลังกาย กินอาหารให้ครบ ๕ หมู่(. เนื้อนมไข่ ให้โปรตีน ๒. ข้าวแป้งน้ำตาล ให้พลังงาน ๓.ผักผลไม้ ๔. เกลือแร่วิตามิน ๕. ไขมัน)

            โรคตาแดง โรคนี้ก็มักพบบ่อยในหน้าหนาวนี้เหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัส เกิดจากมือไม่สะอาด จับไปทั่ว แล้วมาป้ายตาตัวเอง ระบาดได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กนักเรียน ป้องกันก็ไม่ยาก หมั่นล้างมือให้สะอาด ไม่เอามือขยี้ตา ไม่คลุกคลีกับคนเป็นโรค เมื่อเป็นโรคควรหยุดงานหรือหยุดเรียน จะได้ไม่ไปติดต่อผู้อื่น

            โรคสุดท้าย ที่ผู้เขียนใคร่จะแนะนำให้ในหน้าหนาวนี้ ก็ได้แก่ โรคขี้เมา เมากันจังเลยครับ เศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดี ลดๆลงหน่อยนะครับ เมาแล้วมักเกิดอุบัติเหตุ รถชนกัน รถชนเสาไฟฟ้า ทั้งๆที่เสามันไม่ได้ทำอะไรให้ ไม่รู้จะชนกับใครก็ล้มเองก็แยะ หน้าเละ ดั้งยุบ ขาหัก แขนเดาะ มากมาย และถ้าจำเป็นต้องดื่มเหล้าจริงๆ อย่าลืมรองท้องด้วยข้าวปลาอาหารไว้ก่อน เพราะหลายรายประเภทคอทองแดง ไม่ชอบกับแกล้ม มาโรงพยาบาลด้วยอาการหมดสติจากน้ำตาลในเลือดต่ำ ตายได้เหมือนกัน

สวัสดีครับ

[พิมพ์ครั้งแรก ใบปลิว เมื่อ ๐๖-๐๑-๒๕๔๑]

วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2541

บัตร สวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล



หากท่านได้ติดตามข่าวในระยะนี้จะพบว่าได้มีการพูดถึงบัตร ที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอยู่หลายประเภทเช่น บัตรสุขภาพ บัตรสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล หรือบัตร สปร. และบัตรประกันสังคม หลายท่านอาจสงสัยและสับสน ว่าบัตรอะไรใช้อย่างไร ผู้เขียนใคร่เรียนทำความเข้าใจดังนี้ครับ

บัตรสุขภาพ เป็นบัตรที่ท่านสามารถซื้อเพื่อประกันการเจ็บป่วยของท่าน โดยซื้อได้ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย ราคา 500 บาท ใช้รักษาพยาบาลได้ 5 ท่าน เป็นเวลา 1 ปี หมดอายุต้องซื้อใหม่(หมดอายุบัตรนะครับ ไม่ใช่หมดอายุท่าน)

บัตรประกันสังคม ก็เป็นบัตรใช้ในการรักษาพยาบาลสำหรับลูกจ้างโรงงาน หรือลูกจ้างสถานที่ต่างๆ (อยากรู้รายละเอียดต้องรอดู โก๊ะตี๋ ผีหน้ารักอธิบายหน้าจอทีวี)

ส่วน บัตรประกันสุขภาพประชาชนด้านการรักษาพยาบาล หรือ บัตร สปร. ก็คือบัตรที่กระทรวงสาธารณสุขออกให้เฉพาะผู้ที่ยากจน และผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล เมื่อสมัยก่อนเรียกว่าบัตรสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือบัตร สปน. หรือบัตรสงเคราะห์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบัตร สปร. ขณะนี้ท่านที่มีบัตรนี้อยู่ได้หมดอายุไปแล้วเมื่อ 30 กันยายน 2540 แต่เราต่ออายุให้ใช้ได้ถึง 31 มกราคม 2541

ในปีใหม่นี้จะดำเนินการออกบัตรสปร.ให้ใหม่ มีหลักเกณฑ์อยู่ 8 ประเภท ดังนี้

1. เด็กอายุ 0-12 ปี ได้แก่เด็กอายุ 0-12 ปีทุกคน ยกเว้นเด็กที่พ่อแม่เบิกได้

2. ผู้มีรายได้น้อย ได้แก่ผู้ที่อายุระหว่าง 13-60 ปี

คนโสด มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 2000 บาท

ครอบครัว มีรายได้รวมกัน ไม่เกินเดือนละ 2800 บาท

3. นักเรียน เฉพาะนักเรียนที่อายุเกิน 12 ปีขึ้นไป และเรียนยังไม่จบชั้น ม.3

4. ผู้พิการ เฉพาะผู้พิการตามเกณฑ์พรบ. และอายุอยู่ระหว่าง 13-60 ปี

5. ทหารผ่านศึก เฉพาะตามเกณฑ์ทหารผ่านศึก และ อายุระหว่าง 13-60 ปี

6. ภิกษุ/ผู้นำศาสนา เฉพาะอายุระหว่าง 13-60 ปี

7. ผู้สูงอายุ ได้แก่ผู้ที่อายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ยกเว้นผู้ที่เบิกได้

8. บัตรชั่วคราว สำหรับผู้มีสิทธิตามข้อ 1-7 แต่ชื่อไม่ได้อยู่ในทะเบียนบ้าน
ท่านที่มีสิทธิในบัตรในประเภทใด โปรดอย่าชะล่าใจ มัวแต่รอเจ้าหน้าที่มาดำเนินการให้ อาจผิดพลาดได้ จะให้ดีท่านต้องติดตามเรื่องด้วยนะครับ ที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาล

แต่ถ้าจะให้ดีก็ อย่าป่วย ถ้าไม่อยากป่วยผู้เขียนขอแนะนำสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ รายละเอียดขออุบไว้ก่อน ท่านที่สนใจโปรดติดตาม ใบปลิว ฉบับต่อไป




Post ครั้งแรกเมื่อ 2540

วันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541

การบริหารสไตล์ จิกซอว์(JIGSAW)


JIGSAW PUZZLE หมายถึงรูปภาพตัดออกเป็นชิ้นเล็กๆสำหรับต่อเล่น เป็นของเล่นชนิดหนึ่งที่นิยมเล่นเป็นงานอดิเรก กำลังเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย มูลค่าการนำเข้าปีละเป็นพันล้าน เหตุที่มีผู้นิยมเล่นจิกซอว์มากขึ้น เป็นเพราะจิกซอว์เป็นของเล่นที่ท้าทายความสามารถ ผู้เล่นจะต้องใช้ความพยายาม สมาธิ ความอดทน ความช่างสังเกต ใจเย็นพอที่จะรอพบความสำเร็จ เพราะต้องประกอบชิ้น ส่วนเล็กๆจำนวนนับพันชิ้น (อาจมากหรือน้อยกว่าตามต้องการ) เข้าด้วยกัน ต้องประสานกันได้แนบสนิท ผิดไม่ได้แม้ตัวเดียว

จิกซอว์มีหลายประเภท หลายรูปแบบ หลายราคา ที่สามารถจำแนกชนิดได้ชัดเจนก็คือการกำหนดจำนวนชิ้น ว่ามีจำนวนเท่าไร ที่นิยมเล่นได้แก่ 500 ชิน้ 1000 ชิ้น 1500 ชิ้น 2000 ชิ้น ฯลฯ ราคาที่แตกต่างก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพ และจำนวนชิ้นของจิกซอว์

จิกซอว์เกี่ยวอะไรกับการบริหาร มีผู้บริหารจำนวนไม่น้อยที่เปรียบเทียบงานที่ตนกำลังทำอยู่ว่าเสมือนกำลังต่อจิกซอว์ แต่นั่นเป็นเพียงแค่การมองภาพปะติดปะต่อของงานเท่านัน้ หากเราพิจารณาให้ลึกลงไป จิกซอว์มีอะไรที่น่าสนใจมากกว่านั้น เราลองมาเปรียบเทียบ การบริหารงานกับการต่อจิกซอว์ดูกัน

ภาพต้นแบบ การต่อจิกซอว์จะต้องมีภาพต้นแบบที่ชัดเจน เพื่อที่จะได้ทราบว่าจะต่อจิกซอว์แต่ละชิ้นเข้าด้วยกันได้อย่างไร ภาพต้นแบบบางครั้งอาจสร้างไว้ในใจโดยไม่ต้องเป็นภาพที่เห็นด้วยตา เช่นการต่อจิกซอว์รูปแผนที่ประเทศไทยซึ่งผู้ต่อสามารถสร้างภาพในใจได้อยู่แล้ว

การบริหารงานก็เช่นกัน เราต้องทราบภาพต้นแบบซึ่งก็คื วัตถุประสงค์ ของงานที่จะทำนั่นเอง วัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย จะต้องชัดเจน พอที่จะวางแผนการดำเนินงานให้ไปถึงได้อย่างถูกต้อง เป้าหมายที่เบลอๆ(blur) ก็จะวางแผนได้เบลอๆเช่นกัน หรือ อาจวางแผนไม่ได้เลย เหมือนจิกซอว์ที่ไม่มีภาพต้นแบบ ต่อให้ผู้ต่อมีความเก่งกาจเพียงใดก็ไม่สามารถทราบได้ว่าจะต่อไปเป็นภาพอะไรดี

จัดกรอบให้ได้ ขั้นตอนแรกของการต่อจิกซอว์ให้สำเร็จง่ายคือ การจัดกรอบของภาพให้ได้ มีเทคนิคคือเลือกจิกซอว์ที่เป็นขอบ( ด้านใดด้านหนึ่งตรงเรียบ ) แยกมารวมกันไว้ แล้วต่อให้ได้กรอบนอกของภาพ บางท่านเห็นว่าไม่จำเป็น แต่ถ้าท่านได้ดำเนินการเช่นนี้จะพบว่าทำให้การต่อจิกซอว์สำเร็จง่ายขึ้น

เมื่อเปรียบกับการบริหารงาน การจัดกรอบก็คือ การจัดทำกรอบของแผนงาน หรือคือการกำหนดเป้าหมายของงานนั่นเอง ถ้าการวางแผนทำงานไม่มีขอบเขตชัดเจน ไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำงานนั้นๆกับใครก็อาจทำงานออกนอกกรอบได้(สะเปะสะปะ)

จัดหมวดหมู่ หลายท่านใจร้อน จะรีบต่อให้ภาพเสร็จ หยิบได้จิกซอว์ชิ้นใดก็เอามาต่อๆกันไปเรื่อยๆ แต่ก็มักจะสับสนในที่สุด เมื่อเจอชิ้น ส่วนที่คล้ายๆกัน ข้อแนะนำก็คือจัดการแยกหมวดหมู่ สี กลุ่มเดียวกันไว้ด้วยกันก่อนจะเริ่มดำเนินการต่อ จะทำให้การต่อง่ายขึ้น

การบริหารงานก็เช่นกัน ไม่ว่าจะจัดทำงานโครงการใด ควรแยกหรือจัดหมวดหมู่ของกระบวนการทำงานไว้ให้ชัดเจน การไม่ลำดับให้ชัดเจนว่างานใดจะทำเมื่อใด ก็อาจจะมั่วและงงเมื่อทำงานไปได้สักระยะ

ปะติดปะต่อ หลังจากนั้น ก็เริ่มจัดการต่อชิ้น ส่วนจิกซอว์แต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน ค่อยๆทำ ด้วยความอดทน มีวัตถุประสงค์เป็นที่ตั้ง ค่อยๆต่อจากภาพกลุ่มเดียวกัน ค่อยๆขยาย จนกระทั่งเสร็จ อย่าท้อถอย เบื่อนักพักก่อน

การบริหารงานก็เช่นกัน ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆทำงานทีละชิ้น ทีละส่วนอย่างตั้ง ใจ หมั่นมุมานะ แล้วก็จะเสร็จทั้งโครงการได้ในที่สุด

ต่อส่วนไหนก่อน อันที่จริงจะเริ่มต่อบริเวณไหนของภาพก่อนก็ได้ เพราะท้ายที่สุดก็จะต้องต่อทุกชิ้น เข้าด้วยกัน แต่เพื่อความรวดเร็ว มองเห็นโครงร่างได้ชัดเจน ช่วยให้มีกำลังใจ ควรเลือกบริเวณที่ง่ายๆ สะดุดตา มีลวดลายชัดเจนก่อน

การบริหารงานก็ควรเลือก งานชิ้นเด่นๆก่อน เพราะเมื่อสำเร็จสักชิ้น ก็จะมีกำลังใจ เห็นแนวทางของโครงงานชัดขึ้น ว่ามีความหวังจะสำเร็จแน่นอน ตรงไหนที่ทำได้ก็ทำตรงนั้น เร่งทำให้สามารถขยายงานให้ได้มากขึ้น จนไปชนกับงานอื่นที่ดำเนินการไว้แล้ว

ต่อผิดต่อใหม่ได้ จิกซอว์อาจมีชิ้นส่วนที่คล้ายคลึงกันทั้งรูปร่างและสี อาจมีการต่อผิดได้ แต่มักจะพบในที่สุดว่าไม่สามารถต่อให้ต่อเนื่องไปได้ เพียงแค่หยิบชิ้นนั้นออก เอาชิ้นใหม่ใส่ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ทำงานหรือบริหารงานก็เช่นกัน เมื่อรู้ว่าผิด ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผิด คิดผิด ข้อมูลผิด หรือใช้คนผิด ก็เอาส่วนผิดออก และเริ่มใหม่ อย่าดันทุรัง จิกซอว์ต่อผิดต่อใหม่ได้ ไม่เสียหาย งานทำผิดก็ทำใหม่ได้เช่นกัน อาจจะเสียหายบ้างแต่ก็ดีกว่าไม่แก้ไข

หลายคนช่วยต่อเสร็จเร็วขึ้น เป็นธรรมดาของการช่วยกันทำงาน จิกซอว์ไม่ใช่ต้มไข่ที่ต้มมากใบใช้เวลาเท่าเดิม แต่ต่อจิกซอว์ยิ่งช่วยกันต่อคนละหน่อยก็เสร็จเร็วขึ้น เพราะแต่ละคนถนัดไม่เหมือนกัน อาจมองบางมุมได้ชัดเจนกว่าคนอื่น แต่มีข้อแม้ว่าทุกคนที่ช่วยต่อต้องเข้าใจภาพเหมือนๆกัน มองภาพไปพร้อมๆกัน

ทำงานยิ่งสำคัญ ถ้าทุกคน เห็นวัตถุประสงค์ เห็นเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจน การช่วยกันทำงานแต่ละส่วน มองจุดผิดของผู้อื่นที่จะช่วยเตือนทีมให้แก้ไขให้ถูกต้อง ก็จะเร่งให้งานเสร็จเร็วขึ้น แต่ถ้าต่างคนต่างทำไม่ประสานงานกัน หรือเข้าใจวัตถุประสงค์ต่างกัน ก็พังเหมือนเดิม

ชิ้นส่วนหาย หลายครั้ง ที่เล่นเพลินๆ อาจมีชิ้นส่วนบางชิ้น หายไป มักจะเป็นโดยบังเอิญ ถ้าปล่อยให้ขาดว่างไว้ ก็อาจจะดูเป็นทำไม่สำเร็จ อาจใช้ฝากล่องตัดให้คล้ายชิ้นส่วนที่หายไป ต่อไว้แทนก็พอดูได้

การทำงานก็มีบ่อยครั้ง ที่บางส่วนของงานหายไป หรือไม่ครบ(แต่มักจะเกิดจากการตั้งใจไม่ทำงานมากกว่าบังเอิญ) ก็ต้องพยายามหาทางให้ได้ใกล้เคียง ไม่จำเป็นต้อง complete ที่สุด ให้มองผาดๆว่างานสำเร็จก็ดีกว่าปล่อยว่างๆไว้ แต่ไม่ใช่มองผาดๆทั้งโครงการ มีงานจริงอยู่ไม่เท่าไร ถ้าอย่างนัน้ ก็รื้อทำใหม่เถอะ เป็นจิกซอว์ก็ซื้อกล่องใหม่ได้แล้ว

ต่อตรงไหนได้ต่อก่อน อย่าลังเลเมื่อหยิบชิ้นส่วนใดขึ้นมาแล้วสามารถวางได้ตรงจุด แม้จะยังไม่ต่อเนื่องมาถึง เพราะชิ้นส่วนที่ต่อไปลดลง 1 ชิ้น ก็ทำให้ส่วนที่เหลือง่ายขึ้น 1 ชิ้น เมื่อจะต้องค้นหาในกองที่เหลือ

งานก็เช่นกัน เมื่อพบว่างานใดทำได้ก็อย่าลังเล รีบทำให้เสร็จ เสร็จ 1 งานก็ลดลง 1 งาน นอกจากงานจะเหลือน้อยลงแล้ว ยังทำให้มองภาพงานรวมชัดเจนขึ้นด้วย

ชิ้นสุดท้าย ต่อจิกซอว์ต้องมีชิ้นสุดท้าย และชิ้นสุดท้ายจะเป็นชิ้นที่ทำให้ภาพสมบูรณ์ เป็นชิ้นที่มีความสุขที่สุด เมื่อประกอบชิ้นสุดท้ายลงไปจะรู้สึกถึงความสำเร็จ และผู้ที่ได้รับเกียรติให้เป็นคนลงชิ้นสุดท้ายจะได้ความภาคภูมิใจสูง เช่นกัน เมื่องานดำเนินมาครบถ้วนสำเร็จลง ถ้างานชิ้นสุดท้ายผู้บังคับบัญชาได้มีส่วนร่วมในการเป็นผู้ปิดงานย่อมก่อให้เกิดความภูมิใจ(อย่าลืมบริหารเจ้านายสักนิด)

ทากาว-ใส่กรอบ เมื่อต่อจิกซอว์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าไม่ทำการประสานชิ้นส่วนเล็กๆเข้าไว้ด้วยกันก็อาจทำให้มีโอกาสที่จะหลุดหายไปได้ ภาพที่สมบูรณ์ก็อาจเว้าแหว่ง หรือล่วงหลุดทั้งหมดได้ ต้องเสียเวลาเริ่มต่อใหม่ ควรประสานชิ้นส่วนแต่ละชิ้นเข้าด้วยกันด้วยกาว เทคนิคคือใช้กาวที่แถมมากับจิกซอว์หรือใช้กาวน้ำก็ได้ ทาที่ด้านหน้าของรูปภาพ ใช้ฟองน้ำเนื้อละเอียดลูบให้เรียบทั่ว ทิง้ ไว้ให้แห้ง ก็เสร็จเรียบร้อย นำไปใส่กรอบติดโชว์ได้

การทำงานก็เช่นกันต้องหาทางทำให้งานที่ทุ่มแรงกายแรงใจทำมานั่น ยั่งยืนต่อไป(Sustain) นานเท่านาน ไม่ใช่พองานชิ้นสุดท้ายเสร็จ ชิ้นแรกก็เริ่มจางลงหรือหายไป ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมการประชาสัมพันธ์งานนั้นๆต่อไป

บอกแล้วว่าไม่ใช่แค่ต่อจิกซอว์

[พิมพ์ครั้งแรก ว.๘ เมื่อ ๒๕๔๑]


การบริหารเจ้านาย



มีผู้คนจำนวนมากพยายามที่จะพัฒนาตนเองในด้านการบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งที่จะ บริหารบุคคล ที่ถือว่าเป็นสุดยอดของงานการบริหาร (แต่น้อยมากที่จะคิดพยายามที่จะบริหารตนเอง) ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว งานบริหารบุคคลที่คิดกันอยู่ก็คือ การบริหารผู้ใต้บังคับบัญชาของตน จะมีใครคิดบ้างไหมว่าคนที่เราน่าจะคิดบริหารมากที่สุด (นอกจากตัวเราเองแล้ว) ก็คือ ผู้บังคับบัญชา หรือ เจ้านาย ของเรานั่นเอง

การบริหารเจ้านาย มิได้หมายความถึงการพยายามทำให้เจ้านายอยู่ภายใต้อาณัติของเรา หรือเป็นเสมือนหุ่นเชิดของเรา ถ้าใครคิดเช่นนั้น ถือว่าเป็นความผิดอย่างมหันต์ และไม่สมควรอย่างยิ่ง

เจ้านาย(BOSS) หรือผู้บังคับบัญชา ก็คือผู้ที่มีอำนาจเหนือเราในการดำเนินงานที่ทำอยู่เป็นกิจวัตรประจำวัน เจ้านายอาจจะมีบางอย่างหรือหลายอย่างด้อยกว่าเรา เช่น ความรู้ด้อยกว่า วิสัยทัศน์(VISION)สั้นกว่า หรืออีกหลายๆอย่างที่แย่กว่า (ในความเข้าใจของเราเอง) แต่เจ้านายทุกคนไม่ขาดเลยก็คือ อำนาจที่เหนือกว่า อำนาจที่จะลงโทษหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแก่เรา และอย่าลืมว่า ทุกคนมีเจ้านาย อย่าคิดว่าตนเป็นเจ้านายของผู้อื่นเท่านั้น

ทำไมบางคนจึงเข้าหาเจ้านายได้ เรามักมองคนที่เข้าเจ้านายได้ดีว่าเป็นคนประจบสอพลอ เป็นคนเลียแข้งเลียขา แต่เราก็มักแอบอิจฉาอยู่ในใจตลอดมาว่า ทำอย่างไรเจ้านายจึงจะรักเราเช่นนั้นได้ ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนที่เราทั้งรัก ทั้งเกลียด ทั้งกลัว รักเราได้

นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ นายแพทย์แมกไซไซ เคยให้หลักในการบริหารเจ้านายไว้ 10 ประการ คือ

1. จงเป็นนักฟังที่ดี คือต้องไม่ แกล้งฟัง (ทำท่าว่าฟัง แต่ไม่รู้เรื่อง) ต้องตั้งใจ และตีความหมายแท้จริงที่เจ้านายพูดให้ได้ สรุปความให้ได้ อย่ามัวประสาทเมื่อเจอเจ้านาย สบสายตาบ้าง (แต่อย่าตลอดเวลา) เมื่อเจ้านายพูดจบ อาจถามทวนเพื่อความแจ่มชัด (เท่าที่จำเป็น) จดข้อความที่จำเป็น(อย่าเอาแต่จด) และโปรดจำไว้ว่า เจ้านายเหมือนกันทุกคนคือ ไม่ชอบบอกซ้ำเรื่องเดิมบ่อยๆ

2. พูดตรงประเด็น กระทัดรัด เวลามีค่าสำหรับผู้บริหารทุกคน ใช้เวลาให้น้อยที่สุด เลือกเฉพาะที่สำคัญ พูดให้ตรงจุด ไม่อ้อมค้อม ชัดเจน หากทำรายงาน ควรจำกัดความยาวเพียง 1 หน้ากระดาษเป็นดีที่สุด การเขียนสั้นๆ แต่มีประสิทธิภาพนั้น แสดงว่าได้คิดและกลั่นกรองแล้ว

3. ใช้หลักการทูต ข้อเสนอต่างๆ ควรเปิดโอกาสให้เจ้านายได้เป็นผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย ด้วยความภาคภูมิใจ สบายใจ (เราเองก็จะได้พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนเสนอ) อย่าปฏิเสธข้อเสนอของเจ้านายทันทีทันใด เพราะอย่างน้อยท่านต้องคิดถึงข้อดีข้อเสียแล้ว ถ้าไม่เห็นด้วยจริงๆอาจจะลองเสนอว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้จะเป็นอย่างไร แต่อย่ามัวเกรงว่า เรื่องบางอย่างอาจจะกระทบเจ้านายให้ไม่พอใจ เพราะอาจเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจของเจ้านาย ลูกน้องที่เต็มใจบอกเจ้านายอย่างสุภาพว่า ท่านลืมรูดซิบ ดีกว่าลูกน้องที่ชมกันตะพึดตะพือ อย่างไม่ลืมหูลืมตา

4. แก้ปัญหาด้วยตนเอง ทุกวันนี้ไม่มีอะไรที่ทำให้ผู้บริหารเสียเวลา และเสียหัวสมองมากเท่ากับการคอยแก้ปัญหาให้ลูกน้อง

5. ส่งเสริมภาพพจน์ที่ดีของเจ้านาย ควรหาจุดเด่นของเจ้านาย และหาโอกาสส่งเสริมจุดเด่นเหล่านั้น อย่าทำให้เจ้านายเป็นตัวตลก หรือตัวโง่ (แม้แต่รู้สึก) บางครั้ง อาจต้องยอมให้เครดิตแก่เจ้านาย แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นของตนเอง เมื่อเจ้านายดีขึ้นเราก็มีโอกาสดีขึ้นด้วย

6. มองโลกในแง่ดี นักบริหารที่ประสบผลสำเร็จล้วนแต่มองโลกในแง่ดี อย่ามองทุกอย่างเป็นปัญหา แต่ให้มองเป็นสิ่งที่ท้าทาย เวลาพูดกับเจ้านาย ถึงผู้ร่วมงานจงพูดแต่สิ่งที่ดี แสดงถึงการเป็นคนที่ทำงานกับผู้อื่นได้

7. อย่าทำงานล่วงเวลา แต่จงทำงานก่อนเวลา การทำงานแต่เช้าบอกให้รู้ว่า ท่านกระหายที่จะทำงาน ในขณะที่ทำงานล่วงเวลาบอกให้รู้ว่า ท่านยังทำงานไม่เสร็จ

8. รักษาคำมั่นสัญญา เจ้านายเข้าใจในปัญหาอุปสรรคของลูกน้องเสมอ แต่เจ้านายไม่ปรารถนาที่จะฟังคำแก้ตัวเมื่องานไม่เสร็จตามเวลา

9. รู้จักเจ้านาย หาความรู้พื้นฐานของเจ้านายว่าเป็นอย่างไร ประวัติ นิสัยการทำงาน เป้าหมายในชีวิต ฯลฯ (เจ้านายชอบดูมวย ไปขอคำปรึกษาขณะที่เจ้านายกำลังลุ้นมวย ย่อมก่อให้เกิดความหงุดหงิดไม่มากก็น้อย)

10. อย่าใกล้ชิดเจ้านายมากเกินไป ความใกล้ชิดเกินไปจะทำให้ท่านตีเสมอเจ้านาย อาจเผลอทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เพื่อนร่วมงานก็อิจฉา เจ้านายเหมือนกับไฟ อยู่ไกลก็หนาว อยู่ใกล้เกินก็ไหม้ การพยายามทำให้เจ้านายรัก เจ้านายมองเห็นความดี ความสามารถของเรา ในการที่จะสร้างสรรค์งานและไว้วางใจ มอบหมายงานสำคัญให้เราทำด้วยความเต็มใจ มีความสุขที่จะสนับสนุนงานของเราให้สำเร็จ โดยเจ้านายมีความมั่นใจว่า แท้จริงแล้วงานที่เราทำอยู่ ก็คืองานของเจ้านายนั่นเอง คือสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า การบริหารเจ้านาย ในที่นี้ แต่ถ้าเป็นการทำแบบหวังกอบโกยความก้าวหน้าส่วนตัว เหยียบหัวเพื่อนฝูงเพื่อเอาแต่ได้ส่วนตนถ่ายเดียวแล้วไซร้ สมควรเรียกว่า ประจบสอพลอ (แต่ถ้าเป็นการหวังเผื่อไว้เล็กๆน้อยๆก็ไม่ว่ากัน)

เมื่อบริหารเจ้านายแล้ว อย่าลืมตั้งใจทำงานที่อยู่ในความรับผิดชอบให้ดีที่สุด มิฉะนั้นสิ่งที่ท่านปฏิบัติมาก็เป็นเพียงสิ่งลวงโลก สร้างภาพ เจ้านายรู้นะ จะบอกให้

ก่อนจะจบ อยากจะเรียนกับเจ้านายของผู้เขียน (ถ้าบังเอิญท่านมาอ่านบทความนีเ้ข้า)ว่า ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นตำรับตำราที่ได้ศึกษามาระหว่างที่ท่านส่งผู้เขียนไปศึกษา แล้วเก็บเอามาเล่า โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนมิบังอาจ แม้แต่คิดที่จะบริหารเจ้านายคนใดเลย (แม้แต่เจ้านายที่บ้าน) และ ยินดีเสนอตัวให้เจ้านายบริหารอยู่เหมือนเดิม....จริงๆครับ(รู้สึกจะนอกตำราการบริหารเจ้านายแล้ว นะเนี่ย.....เอ! หรือเป็นเทคนิคชั้น สูง.....แฮ่ม)

อ้างอิง
1. นพ.กระแส ชนะวงศ์, เอกสารประกอบการบรรยาย “การบริหารงานสาธารณสุข” ปรับปรุงโดย นพ.สมชาติ โตรักษา
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 14 มิถุนายน 2537
2. สุธี สุทธิสมบูรณ์,สมาน รังสิโยกฤษณ์ หลักการบริหารเบือ้ งต้น พิมพ์ครัง้ ที่ 15 กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชนจำกัด, 2537
[พิมพ์ครั้งแรก ว.๘ เมื่อ ๒๕๔๑]