วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2541

สุขศาลา ดอท คอม



สุขศาลา.คอม suksala.com

โรงพยาบาลวังทอง บน อินเตอร์เน็ต

จากอดีต สู่ อนาคต อีกมิติหนึ่งของการสาธารณสุขไทย

โลกทั้งโลกอยู่ในมือคุณ คงเป็นคำกล่าวที่ไม่มากเกินไปในยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้ ใครที่ไม่รู้จัก อินเตอร์เน็ต (Internet) คงกลายเป็นบุคคลล้าสมัย เพราะการพัฒนาระบบสารสนเทศ (IT Information Technology) ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ข้อมูลต่างๆถูกวางไว้ในเครือข่ายใยแมงมุม ที่สามารถเรียกหามาดูได้จากทั่วทุกมุมโลก(แม้กระทั่งนอกโลก ถ้าท่านเดินทางไปอยู่ในอวกาศ)

โรงพยาบาลวังทอง ก็ไม่ยอมอยู่นิ่งเฉย ขณะที่กำลังพัฒนาโรงพยาบาลสู่ยุคใหม่ของการให้บริการประชาชนผู้เป็นลูกค้ารายใหญ่ของเรา โดยกระบวนการ พัฒนาระบบจัดการเพื่อคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM Total Quality Management) มาดำเนินการ เพื่อบรรลุเป้าหมาย โรงพยาบาลมาตรฐาน(Accreditation) ในปี 2543
ขณะนี้โรงพยาบาลวังทองได้เปิดเวบไซต์ของโรงพยาบาลในชื่อใหม่ที่เข้าง่ายกว่าเดิมเรียบร้อยแล้ว ในชื่อ สุขศาลา.คอม suksala.com

สุขศาลา สถานที่ที่เป็นที่พึ่งในยามเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชนคนไทยในอดีต กำลังปรากฎโฉมใหม่อีกครั้งในยุคอินเตอร์เน็ต เพื่อเป็นที่พึ่งสำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการความรู้ความเข้าใจในสุขภาพของตน

เวบไซต์ สุขศาลา จะประกอบด้วยเนื้อหาหลักคือ
ข้อมูลทั่วไปของอำเภอวังทอง
ข้อมูลทั่วไปของโรงพยาบาลวังทอง
web link การเชื่อมต่อ web site ที่เกี่ยวข้องกับการ สาธารณสุขทุกเรื่องทั่วโลก ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ (ยกเว้นต่างดาว)
กระดานข่าว (Board Room) คือที่ที่ท่านสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นต่างๆ ได้ตลอดเวลา(ยกเว้นเวลาปิดเครื่อง)
ห้องสนทนา (Chat Room) แบ่งเป็น 2 ห้อง สำหรับท่านที่จะเข้าไปคุยแบบเอาเนื้อหาสาระ กับแบบที่ไม่ต้องคิดมาก ขอให้ได้ คุย คุย คุย คุย คุย คุย และคุย

และอนาคตคงจะเพิ่มเติมขึ้นอีก เช่น FAQ (Frequency Ask Questions) คำถามทางการแพทย์ที่พบบ่อยๆ เป็นต้น

สุขศาลา.คอม เป็นที่ที่คุณใช้เป็นทางผ่านไปยังเวบไซต์อื่นๆที่เกี่ยวกับสุขภาพ

สุขศาลา.คอม เป็นที่ที่คุณสามารถแสดงความคิดเห็นต่างๆในงานสาธารณสุข

สุขศาลา.คอม เป็นที่ที่คุณสามารถสอบถามข้อสงสัยในสุขภาพของคุณ

สุขศาลา.คอม เป็นที่ที่คุณควรกำหนดเป็น Homepage ของคุณ

ลองเข้าไปแวะชมนะครับ เพียงท่านแวะเข้าไปที่ suksala.com สุขภาพของท่านก็จะดีขึ้น
สุขภาพของท่าน ด้วยตัวของท่านเอง



http://www.suksala.com

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2541

ปราบไข้เลือดออก หน้าที่ใคร ?


เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า เมื่อถึงหน้าฝน ถ้าลูกหลานเป็นไข้ ให้นึกถึง โรคไข้เลือดออก และ ไข้เลือดออกนั้นอันตรายมาก อาจถึงตายได้

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ยังไม่มีวัคซีน ที่จะสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ยุงลาย คือไอ้ตัวร้าย ที่นำเชื้อโรคไข้เลือดออกมาสู่คน  ยุงลาย มันกัดคนตอนกลางวัน   และ การกำจัดยุงลายเท่านั้น ที่จะสามารถป้องกันได้

แต่ไข้เลือดออก ก็ยังคงมีอยู่  หลายท่านเคยมีคนในครอบครัวป่วยเป็นไข้เลือดออก และ หลายครอบครัวถึงกับมีคนเสียชีวิตจากไข้เลือดออก เป็นความหลังอันไม่น่าจดจำ

หลายท่านไม่มีลูกหลานเล็กๆอยู่ในบ้านด้วย ก็เลยไม่กลัวไข้เลือดออก เพราะคิดว่า ไข้เลือดออกจะเป็นเฉพาะในเด็กอายุน้อยๆเท่านั้น ในที่สุดก็เลยต้องอับอายเพื่อนบ้าน เมื่อมาเป็นไข้เลือดออกเอาตอนแก่ โชคดีที่ไม่ตาย

เรามาพูดวิธีป้องกันกันดีกว่า ง่ายๆ ครับ กำจัดทั้งไข่ยุง ทั้งลูกน้ำ ( ลูกน้ำยุงนะครับ ไม่ใช่ ลูกน้ำ พาเมล่า เบาว์เด้นท์ ) และกำจัดยุงลายตัวแก่ (หมายถึงยุงลายทุกตัว ทั้งหนุ่มสาวเด็กแก่ ขอให้รอดจากลูกน้ำมาเป็นยุงก็แล้วกัน เอาหมด)

ท่านผู้อ่านที่คุ้นเคยกันอาจรู้สึกแปลกใจที่ครั้งนี้ผู้เขียนไม่ยักบอกถึงอาการไข้เลือดออกว่าถ้าเด็กไข้สูงหลายๆวัน ซึมลง กินไม่ค่อยได้ ให้นึกถึงไข้เลือดออก ไม่ยักพูดถึง ว่าเมื่อมีไข้ ห้ามใช้ยาแอสไพริน ไม่ยักพูดถึงอาการที่เด็ก ตัวเย็นลงอย่างรวดเร็ว ชีพจรเบาเร็ว กระสับกระส่าย ว่าเริ่มช็อคแล้ว ต้องรีบพาไปพบแพทย์ เพราะอาจถึงตายได้  ที่ไม่พูดถึงเพราะ เบื่อครับ บอกกันทุกปี เบื่อทั้งผู้อ่าน เบื่อทั้งผู้เขียน

ฆ่ายุงตัวแก่ ก็เอากันตั้งแต่ ตบให้ตาย ไปจนใช้ยาฉีดยาพ่น หรือทำอย่างไรก็ได้ให้มันตาย อ้อ ! ถ้ายังกำจัดมันไม่ได้ ก็ใช้วิธีป้องกัน ไม่ให้มันกัด จะใช้มุ้ง จุดยากันยุง  ทา น้ำมันตะไคร้หอม หรืออะไรก็ได้

กำจัดลูกน้ำ ก็เทน้ำทิ้ง ตักตัวลูกน้ำทิ้ง ใส่เกลือในขาตู้กับข้าว ใส่ทรายทีมีฟอส(ทรายอเบท)ในตุ่มน้ำ ทุกวิธีแหละครับ เห็นลูกน้ำที่ไหน กำจัดที่นั่น อย่ารอให้โตเป็นยุง กำจัดยากกว่า แล้วก็ไม่ต้องเลือกนะครับ บางคนเล็งแล้วเล็งอีก บอกว่าไม่ใช่ลูกน้ำยุงลาย  

กำจัดไข่ยุง ก็ไม่ต้องไปมัวเสียเวลาหาว่าไข่มันอยู่ตรงไหน ทำแบบเดียวกับกำจัดลูกน้ำนั่นแหละ คืออย่ามีที่ให้ยุงลงไปไข่   ยุงลายมันชอบไข่ในน้ำใสๆ  น้ำนิ่งๆ   เททิ้งได้ ก็เท  เทไม่ได้ก็ปิดฝา หรือใส่ทรายทีมีฟอส(ทรายอเบท)

ทรายทีมีฟอส หรือ ทรายอเบท นี่พิสูจน์แล้วว่าไม่มีอันตราย หลักการคือใส่น้ำให้เต็มตุ่ม ใส่ทรายลงไปตามจำนวน สารเคมีก็จะละลายในน้ำ สารเคมีจะไปเคลือบข้างตุ่ม ไม่ต้องเติมทรายทีมีฟอสบ่อยๆ ใช้ได้นาน 3 เดือน

ที่พูดมาทั้งหมดนั้น ใครจะทำ

อ้าว !  ทำไมถามอย่างนี้ละครับ
หลายท่านบอกว่า ก็หน้าที่หมอนั่นแหละ ถ้าหมอไม่ปราบยุง ลูกฉันโดนยุงกัด ป่วยเป็นไข้เลือดออก หมอก็เดือดร้อนต้องรักษาลูกฉัน ถ้าลูกฉันช็อค หมอก็อดหลับอดนอนเฝ้าลูกฉันทั้งคืน และถ้าบังเอิญลูกฉันตายไป ฉันก็จะร้องเรียนหมอ….เออ เอากะแม่สิ

ลองค่อยๆคิดดูใหม่นะครับว่า หน้าที่ใคร ?

หน้าที่ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เทศบาล ครู นักเรียน หมอ อสม. ครอบครัว หรือหน้าที่ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง………….
นึกออกแล้ว ค่อยลุกไปทำซะดีๆ…...ก็ทุกคนนั่นแหละครับ


[พิมพ์ครั้งแรก ใบปลิว เมื่อ ๐๖-๐๗-๒๕๔๑]